รัฐมนตรีพลังงานแจงไม่ได้สั่งยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังชาวเทพาบุกยื่นหนังสือถึงกระทรวง


6 ก.พ. 2561

ที่มา ศูนย์ข่าว พลังงาน

30.jpg

รัฐมนตรีพลังงาน ยืนยันยังไม่เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพียงขอเวลาศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ก่อน เหตุพื้นที่ตั้งเดิม 700 ไร่ในโครงการติดปัญหาพื้นที่สาธารณะตามกฎหมาย ไม่สามารถออกโฉนดให้ได้ ในขณะที่ชาวเทพากว่า100คน จาก 66 องค์กรบุกยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานถึงที่กระทรวงพลังงาน เสนอให้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan –PDP )ที่อยู่ในระหว่างการจัดทำขึ้นใหม่ ด้านเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เตรียมเดินทางมาทำเนียบ 8 ก.พ. นี้ พร้อมอยู่ยาว จนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพา   

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในระหว่างการตรวจเยี่ยม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเอนกประสงค์ขนาดกลาง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) (โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร) อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ถึงกรณีที่ชาวบ้านอำเภอเทพากว่า 100 คน จาก 66 องค์กร เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงพลังงาน ว่า กระทรวงพลังงานพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ โดยไม่มีการปิดกั้นแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด  700 ไร่ บางส่วนจัดอยู่ในประเภทพื้นที่สาธารณะ ซึ่งไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ดังนั้นการใช้พื้นที่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจาก 2 ส่วนคือ การยินยอมจากชาวบ้านและการได้รับอนุมัติจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ติดขัดข้อกฎหมาย

ดังนั้นเมื่อยังไม่มีความชัดเจนกรณีการยินยอมใช้พื้นที่สาธารณะจากชาวบ้าน หรือ ยังติดขัดกฎหมายการใช้พื้นที่สาธารณะ กระทรวงพลังงานมีความจำเป็นต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไปศึกษาพื้นที่อื่นๆ ที่จะตั้งโรงไฟฟ้า เพิ่มเติมด้วย โดยให้เวลา 3 ปี (2561-2563) 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าว สอบถามว่า หากมีการพิสูจน์ได้ชัดเจนเสร็จก่อน 3 ปีที่กำหนด ว่าชาวบ้านยินยอมให้สร้าง และไม่ติดกฎหมายการใช้พื้นที่สาธารณะจะอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเลยหรือไม่ นายศิริ ตอบว่า หากมีการพิสูจน์ได้ชัดเจนก็พร้อมให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ไม่ต้องการให้ระบุว่า จะอนุมัติก่อน 3 ปีนี้หรือไม่ โดยอยากให้ศึกษาให้ชัดเจนเสียก่อน

นายศิริ กล่าวแสดงความมั่นใจด้วยว่า ภายใน 5 ปีจากนี้ ภาคใต้จะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากได้ศึกษาร่วมกับ กฟผ.แล้วพบว่าปริมาณไฟฟ้ามีเพียงพอ เพียงแต่ต้องปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักอย่างโรงไฟฟ้าขนอมและโรงไฟฟ้าจะนะไปสู่พื้นที่ใช้ฝั่งอันดามันโดยตรง และขยายสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างภาคกลางและภาคใต้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถดึงไฟฟ้าจากภาคกลางมาช่วยในปริมาณที่มากขึ้น

​​ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561  ตัวแทนชาวอำเภอเทพา จำนวนกว่า100 คนนำโดยนายหลี สาเมาะ อดีตกำนันตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  และเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือกระทรวงพลังงาน โดยมีนายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือ 

โดยเนื้อหาในหนังสือ มีข้อเสนอ 4 ข้อประกอบด้วย  
1. ขอให้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าเทพาไว้ใน PDP ฉบับใหม่
2. ขอให้พิจารณารายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือตามขั้นตอนต่อไป
3. ขอให้รับฟังเสียงส่วนใหญ่ที่่สนับสนุนอย่างมีเหตุมีผล มากกว่ารับฟังเสียงคัดค้านส่วนน้อย ที่ถูกชักนำและครอบงำโดย NGO นอกพื้นที่ 
4. ชาวเทพาพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลและ กฟผ. ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านส่วนน้อยในพื้นที่ และการเจรจาจัดซื้อที่ดิน เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าเทพาสามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุดต่อไป
โดยนายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน กล่าวว่า ตัวแทนชาว อำเภอเทพา ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในช่วงเช้า ก่อนที่จะเดินทางมายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของ กฟผ. เนื่องจาก กฟผ. ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้ระยะเวลา 4 ปี ใช้งบ 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชน ดังนั้นไม่ต้องการให้ชะลอโครงการออกไป 3 ปี เนื่องจากชาวเทพาส่วนใหญ่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

โดยปัจจุบัน อำเภอเทพา มี 119 ครัวเรือน เกือบทั้งหมดเห็นด้วยที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในพื้นที่ดังกล่าว มีเพียง 1% เท่านั้นที่คัดค้าน ซึ่งเชื่อว่าเรื่องการขัดแย้งที่ดินสามารถเคลียร์ปัญหาดังกล่าวได้

ในขณะที่แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน  ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2560 เรื่อง ไม่ยอมรับคำประกาศการเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 ปี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยให้เหตุผลว่าประกาศดังกล่าว เป็นการมัดมือประชาชนไม่ให้เคลื่อนไหว แต่ปล่อยมือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งคำประกาศดังกล่าวเป็นคำประกาศที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ และเป็นคำประกาศที่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งครั้งสำคัญ

ทั้งนี้เครือข่ายปกป้องอันดามันจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลวันที่ 8 กพ.2561 และจะอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลนี้จะตัดสินใจยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพา