เรือนจำสงขลา เปิดโครงการฝึกทักษะชีวิตก่อนส่งต่อผู้ต้องขังพ้นโทษคืนกลับสู่สังคม


8 ก.พ. 2561

เรือนจำจังหวัดสงขลา เปิดโครงการเตรียมส่งต่อผู้ต้องขังพ้นโทษคืนกลับสู่สังคม พร้อมฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิตในสังคมและเห็นคุณค่าในตนเอง

30.JPG

(7 ก.พ.61) ที่เรือนจำจังหวัดสงขลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเตรียมส่งต่อผู้ต้องขังคืนกลับสู่สังคม โดยมีนายประเสริฐ วัฒนเสรีกุล รองอธิบดีอัยการภาค 9 สงขลา พร้อมด้วยนายภักดี แก้วเนียม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสงขลา นางอารี เตชะวันโต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา เจ้าพนักงานเรือนจำและ ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อกลับคืนสู่สังคมจะไม่กลับมาสร้างปัญหาหรือก่อคดีขึ้นอีก เพราะทุกเรือนจำจะมีการอบรมกลั่นกรองผู้ต้องขังและเรียกผู้อุปการะหรือผู้ปกครองมาทำความเข้าใจและตรวจสอบถึงครอบครัว ความเป็นอยู่ตลอดจนความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษกลับออกไปสู่สังคมภายนอก

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการเตรียมส่งต่อผู้ต้องขังนักโทษคืนกลับสู่สังคม จะเน้นการแก้ไข ฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำ ได้รับการฝึกอบรมอาชีพด้านต่างๆ ในระหว่างต้องโทษ เพื่อให้มีทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพสุจริตภายหลังพ้นโทษ

การให้การศึกษาในระดับต่างๆ จนถึงระดับปริญญา การศึกษาธรรมศึกษา เพื่อพัฒนาพฤตินิสัย ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูในการที่จะทำให้ผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษเหล่านี้มีความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะปล่อยตัวออกสู่สังคมภายนอก เพื่อเป็นการพัฒนาผู้ต้องขังให้ปรับตนเป็นพลเมืองดี ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอก และเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

นายภักดี แก้วเนียม ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะเรือนจำจังหวัดสงขลามีผู้ต้องขังกว่า 2,300 คน โดยมีผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนทั้งสิ้น 15 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาจังหวัดสงขลาทั้งหมด สำหรับแนวทางการควบคุมผู้ต้องขังจะเป็นไปตามหลักทัณฑวิทยาสมัยใหม่และตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามแนวทางของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยจะเริ่มตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขังเข้ามาอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถาน

ผู้ต้องขังทุกรายจะได้รับการจำแนกลักษณะเพื่อศึกษาหาข้อมูลละเอียดต่างๆในการวางแผนปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นรายบุคคล ต่อจากนั้นผู้ต้องขังจะเข้าสู่กระบวนการอบรม แก้ไขและฟื้นฟูจิตใจ จนกระทั่งเมื่อใกล้พ้นโทษนั้น ทุกครั้งที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ มักทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวง วิตกกังวลในเมื่อผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วจะมาก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น

ทำให้กรมราชทัณฑ์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อกลับคืนสู่สังคมจะไม่กลับมาสร้างปัญหาหรือก่อคดีอีกเพราะทุกเรือนจำจะมีการอบรมกลั่นกรองผู้ต้องขังและเรียกผู้อุปการะ หรือ ผู้ปกครองมาทำความเข้าใจ ตลอดจนความพร้อมต่างๆเพื่อคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนให้เข้าหลักสูตรการอบรมก่อนที่จะมีการเปิดตัวออกสู่สังคมภายนอก

ด้านนายประเสริฐ วัฒนเสรีกุล รองอธิบดีอัยการภาค 9 สงขลา กล่าวว่า การจัดโครงการฯครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ผู้ที่จะพ้นโทษได้พบปะผู้คนที่อยู่ภายนอก เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ภายในเรือนจำจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนมากนักโทษที่กระทำผิด อาทิ เรื่องยาเสพติด อาวุธปืนเหล่านี้ เป็นนักโทษที่กระทำผิดด้วยความประมาทหรือความคึกคะนอง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในบางเรื่อง

การที่เขาจะออกสู่สังคมภายนอกใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้กลับเข้ามาต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงาน ให้นักโทษเหล่านี้ได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้ อย่างเช่น สำนักงานอัยการ ภาค 9 สงขลา เป็นหน่วยงานที่ ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งหมด เพราะฉะนั้น ต้องมีการแนะนำผู้ต้องขัง หากกระทำผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะมีอัตราโทษเท่าไร เมื่อพ้นโทษไปแล้วก็อย่าไปกระทำผิดซ้ำและกลับเข้ามาอีก

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว    ประชา โชคผ่อง/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา