คณะวิทย์ ม.อ. ดึงสุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทย์โลก ถ่ายทอดทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์


21 มี.ค. 2561

นาโนเทค-สวทช.และคณะวิทย์ ม.อ. ดึงสุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทย์โลก ถ่ายทอดทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์ นำเยาวชนร่วมประกวดการสื่อสารนาโนเทคโนโลยีและความปลอดภัยผ่านคลิปวีดีโอ

“เปิดตัวโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพเยาวชนด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ : เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี (Nanoscience Communication for Youth : NCY 2018)” พร้อมดึง “ป๋องแป๋ง” (นายอาจวรงค์ จันทมาศ) สุดยอดแฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก รายการแฟนพันธุ์แท้ นักเขียน-นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์พลังของการสร้างสรรค์สื่อกับการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในยุค 4.0

S7045135.jpg

นายสมศักดิ์ สินสุวรรณรักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า “นาโนเทคโนโลยี” เป็นอีกหนึ่ง เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ประเทศไทยได้นำ “นาโนเทคโนโลยี” มาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการนำวัสดุนาโนหรืออนุภาคนาโนมาใช้ในกระบวนการผลิต การทดลอง และการวิจัยต่างๆ จำนวนมาก เช่น สิ่งทอทั่วไป ที่มีการนำ “นาโนเทคโนโลยี” มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต หรือหลังจากการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสิ่งทอนั้นให้มีสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น กันแบคทีเรีย กันน้ำ เป็นต้น หรือเวชสำอาง ฯ
แม้ “อนุภาคนาโน”จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังไม่มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และถูกวิธี เพื่อป้องกันผลที่อาจมีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้บริโภคได้

S7045137.jpg

รองผอ.ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีและเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารได้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างรวดเร็ว จนบางครั้งผู้รับสารเกิดความสับสนในข้อเท็จจริง และเกิดการวิเคราะห์ไปในแนวทางต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้ “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่และสื่อสารองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถูกต้องให้แก่สาธารณชน การปลูกฝังหรือสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนผู้มีอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารซึ่งอยู่ในยุคสังคมออนไลน์ จะเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

 “ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้กำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนและพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและยั่งยืน ในแผนแม่บทของศูนย์ฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี โดยมาตรการหนึ่งในการดำเนินงานคือ “การประชาสัมพันธ์ ผ่าน “โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพเยาวชนด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เรื่องความปลอดภัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มอ. เพื่อให้เยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์นำเสนอข้อมูลข่าวสาร และองค์ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยี ผ่านสื่อคลิปวิดีโอ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ให้คนในสังคมรู้เท่าทัน รู้จักเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโน และรู้จักนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ต่อไป”นายสมศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน ผศ.ดร.เยาวภา สุขพรมา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพเยาวชนด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ จะทำการคัดเลือกกลุ่มเยาวชนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าสาขาวิทยาศาสตร์ ที่มีความสนใจเรื่องนาโนเทคโนโลยีและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีทั่วประเทศที่มีอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสื่อสารเรื่องความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีสู่สาธารณชน ด้วยการผลิตสื่อคลิปวิดีโอผ่านสื่อออนไลน์แบบสั้นไม่เกิน 3 นาที โดยสอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0 2117 6608, 074 288 028 หรือทางเว็บไซต์ที่ www.nanoplussouth.sci.psu.ac.th หมดเขตรับสมัครคลิปวิดีโอรอบออดิชั่น 20 เมษายน 2561 นี้

S7045139.jpgS7045141.jpg