เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2559


5 มี.ค. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเก็บแบบสอบถามกับประชาชน จำนวน 420 คน และนำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนธันวาคม 2558 และมกราคม 25559 เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ ในส่วนของข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่า เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 47.7 เพศหญิง ร้อยละ 52.1 และส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 35 – 44 ปี คิดเป็น  ร้อยละ 31.4  ระดับการศึกษาปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 45.0  

01.jpg

                               

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559  โดยความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม  รายได้จากการทำงาน  และโอกาสในการหางานทำ ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายรวมแทบทุกด้านปรับตัวลดลง ทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ  และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเงิน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 67.8 และ 67.3 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 16.5 และ 19.9 ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านอื่นๆ ส่วนใหญ่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน และโดยเฉพาะด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 16.7 ที่เชื่อว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ จากเหตุการณ์คาร์บอม จังหวัดปัตตานี และเป็นเพราะประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีความพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ก็ตาม

โดยปัจจัยที่ประชนชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากที่สุด คือ การว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 21.1 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน ค่าครองชีพ และการเมือง คิดเป็นร้อยละ 17.4  15.7 และ 14.0 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกคือ เศรษฐกิจทั่วไป รองลงมา คือ การว่างงาน ค่าครองชีพ และหนี้สินครัวเรือน ตามลำดับ