เกษตรกรสงขลาแก้จน 4.0 เดินหน้าลดพื้นที่ปลูกยาง เกษตรปลูกพืชระยะสั้น เพื่อเพิ่มรายได้


26 เม.ย. 2561

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ “เกษตรกรสงขลาแก้จน 4.0” เดินหน้าลดพื้นที่ปลูกยาง สนับสนุนเกษตรปลูกพืชระยะสั้น เพื่อเพิ่มรายได้

PNEWS18042518202501801.jpeg

วานนี้ (25 เม.ย. 61) ที่บริเวณโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชอาหารในพื้นที่ป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ฟาร์มทุ่งหัวเมือง ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการ “เกษตรกรสงขลาแก้จน 4.0” เดินหน้าลดพื้นที่ปลูกยาง สนับสนุนเกษตรปลูกพืชระยะสั้น เพื่อเพิ่มรายได้ ตามนโยบายของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ นำร่อง จำนวน 70 ราย แล้วจึงขยายผลโครงการฯ ต่อไป

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์การปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีจำนวน 2.1 ล้านไร่ เบิกกรีดแล้ว จำนวนกว่า 1 ล้านไร่ ผลผลิตกว่า 240 กิโลกรัมต่อไร่ มีครัวเรือนที่ปลูกประมาณกว่า 92,000 ครัวเรือน โดยปลูกในลักษณะเจ้าเดียวและประสบกับปัญหาราคายางผันผวน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพทำให้มีรายได้ลดลง

ดังนั้น จังหวัดสงขลา จึงได้จัดทำโครงการ “แก้จนเกษตรกรสงขลา 4.0” โดยมีเป้าหมาย จำนวน 370 ราย ซึ่งในระยะแรกจะดำเนินการใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาทวี และอำเภอเมือง ในรูปแบบผักยกแคร่และผักบนดิน เพื่อสร้างการรับรู้โดยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ การปรับทัศนคติ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , แผนผลิต โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรอำเภอ , มาตรฐานสินค้าเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่เป้าหมายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมาก ทั้งการปลูกผักคะน้า , ผักกาดขาว , ผักไฮโดรโปนิกส์ , ถั่วฝักยาว , พริกขี้หนู , มะเขือเปราะ , ผักหวานบ้าน , พริกไทยดำ , มะนาว , สับปะรด , ผักกวางตุ้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางจังหวัดสงขลา ได้มีการนำแนวทางประชารัฐมาดำเนินโครงการฯ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ดูแลด้านการตลาด และช่องทางในการจำหน่ายสินค้า , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกแบบแบรนด์สินค้า และแพ็กเกจจิ้ง , สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรอำเภอ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกพืช พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรม ตลอดจนความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตามมาตรฐาน GAP ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ปลอดภัย เป็นผักปลอดสารพิษ ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถเพิ่มมูลค่าพร้อมยกระดับสินค้าสู่ตลาดชั้นนำตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรชาวสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป

PNEWS18042518202501802.jpegPNEWS18042518202501810.jpegPNEWS18042518202501812.jpegPNEWS18042518202501813.jpegPNEWS18042518202501815.jpeg

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา