มรภ.สงขลา วิจัยพลังงานทางเลือก เพิ่มมูลค่าทางปาล์มน้ำมัน-ใช้น้ำเสียทำก๊าซมีเทน


8 มี.ค. 2559

อาจารย์ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผุดไอเดียเพิ่มมูลค่าทางปาล์มน้ำมัน ผลิตไบโอเอทานอล ขึ้นเวทีโชว์ผลงานที่ญี่ปุ่น ควบคู่ทำวิจัยใช้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและกลีเซอรอล เปลี่ยนของเสียโรงงานอุตสาหกรรมเป็นก๊าซมีเทน

2.jpg  
จากความเชื่อที่ว่า พลังงานของโลกมีอยู่จำกัด หากยังใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและขาดการวางแผนสำหรับอนาคต วันข้างหน้าลูกหลานของเราจะใช้ชีวิตอย่างลำบากแน่นอน ทำให้ ดร.เกียรติศักดิ์ พันธ์พงศ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล ศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง โดยได้ศึกษาผลของตัวยับยั้งระหว่างการปรับสภาพทางปาล์มน้ำมันด้วยไมโครเวฟเพื่อผลิตไบโอเอทานอลโดยกระบวนการ SSF (Effect of Inhibited Formation during Oil Palm frond Pulping (OPFP) Microwave Pretreatment for Bioethnanol Production by SSF Process) เป็นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางปาล์มน้ำมัน จากที่เป็นเพียงอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ตามร่องสวน ซึ่งพบว่าในทางปาล์มน้ำมันมีชีวมวลที่สามารถนำมาผลิตเอทานอลชีวภาพ (Bioethanal)ได้ แต่กระบวนการผลิตไบโอเอทานอลนั้นมีปัญหาในขั้นตอนการปรับสภาพวัตถุดิบ ที่ส่งผลให้เกิดตัวยับยั้ง ทำให้ได้ผลผลิตไบโอเอทานอลน้อยลง
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสมในการปรับสภาพทางปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกิดตัวยับยั้งน้อยที่สุด ส่งผลให้ได้ผลผลิตไบโอเอทานอลที่สูงขึ้น โดยทดลองเลือกใช้การปรับสภาพ 3 วิธี คือ การใช้ไมโครเวฟร่วมกับกรดซัลฟิวริก การใช้ไมโครเวฟร่วมกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และการใช้ไมโครเวฟร่วมกับน้ำ ผลการทดลองสรุปได้ว่า การใช้ไมโครเวฟร่วมกับน้ำทำให้เกิดตัวยับยั้งน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าทางปาล์มน้ำมัน และการผลิตไบโอทานอลให้ได้ปริมาณสูงขึ้นต่อไป โดยงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการตอบรับให้นำไปเผยแพร่ระดับนานาชาติ ในงาน Asian Conference on Engineering Natural Sciences 2016 (2016 ACENS) ณ เมือง ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนั้น ดร.เกียรติศักดิ์ พันธ์พงศ์ ยังทำวิจัยเรื่อง กระบวนการผลิตก๊าซมีเทน โดยใช้กระบวนการหมักร่วมแบบไร้อากาศของน้ำเสียโรงงานแปรรูปอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง กับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและกลีเซอรอล (Anaerobic Co-Digestion Biomethanation of Cannery Seafood Wastewater with Microcystis sp: Blue Algae with/without Glycerol Waste) โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและกลีเซอรอลเป็นสารหมักร่วมในการปรับปรุงกระบวนการย่อยสลายแบบไร้อากาศของน้ำเสียโรงงานแปรรูปอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งมีที่มาจากการเห็นว่าภาคใต้มีอุตสาหกรรมหลักอยู่ 3 ประเภท คือ อุตสาหกรรมผลิตปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดของเสียและต้องใช้พลังงานจำนวนมาก หากสามารถนำของเสียเหล่านี้เปลี่ยนเป็นพลังงานก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตหรือสร้างรายได้จากการขายพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่งด้วย

“การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพใช้เองในครัวเรือน เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ เริ่มจากคัดแยกขยะในครัวเรือน ขยะที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ การขับถ่าย ฯลฯ ล้วนเป็นแหล่งพลังงานชีวภาพทั้งสิ้น หากทุกครัวเรือนหันมาทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนกันมากขึ้น แปรของเสียให้เป็นพลังงานกลับมาใช้ใหม่ มีวินัยในการคัดแยกขยะ ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับตัวเองและโลก ในฐานะนักวิจัยด้านพลังงานทดแทน แม้มนุษย์จะหาหนทางค้นพบพลังงานได้มากแค่ไหน แต่พลังงานของโลกมีอยู่จำกัด หากเรายังใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและขาดการวางแผนสำหรับอนาคต วันข้างหน้าลูกหลานเราจะใช้ชีวิตอย่างลำบาก” ดร.เกียรติศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย

ข่าวโดย อภิญญา สุธาประดิษฐ์  (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

1.jpg