สาระน่ารู้จาก ธปท. ตอน บัตรเครดิต ควรใช้คู่กับ....


20 มิ.ย. 2561

“บัตรเครดิต” ควรใช้คู่กับ................

การใช้บริการบัตรเครดิต อาจสะท้อนพฤติกรรมส่วนบุคคลอย่างหนึ่งในหลากหลายมิติ แต่ที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารในบทความนี้ คือ “วินัยทางการเงิน” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการบัตรเครดิต และที่สำคัญ คือ การหยุดยั้งปัญหา “หนี้” จากการใช้บัตรเครดิต

0111.jpg

ณ มี.ค. 61 “หนี้” ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตมีจำนวน 358,290.9 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีสถานะค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป 8,099.1 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ หรืออยู่ในกระบวนการทางคดี อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ครอบครัว และสังคมโดยรวมอยู่ไม่น้อย จนเป็นภาระภาครัฐที่ต้องออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ

จากประสบการณ์การทำงานที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินอย่างทั่วถึง นั้น พบว่า “หนี้” ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตและกลายเป็นหนี้มีปัญหาจะแก้ไขได้ยาก แต่สามารถยับยั้งปัญหาได้ถ้าหากผู้ใช้บริการมี..........

“ความรู้” รายละเอียดของสัญญาเป็นปัจจัยบ่งบอกถึงความใส่ใจ เพราะสัญญาการให้บริการบัตรเครดิตไม่ใช่สัญญาเงินกู้ แต่เป็นการรับทำการงานต่างๆและเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป จึงมีเงื่อนไขการใช้บริการที่สำคัญๆอยู่หลายประเด็น เช่น หากชำระเงินทั้งจำนวนตามเงื่อนไขที่เรียกเก็บก็จะไม่มีหนี้ค้างและดอกเบี้ย แต่ในทางกลับกันหากมีหนี้ค้างก็จะมีเงื่อนไขการนับเวลาเพื่อคำนวณดอกเบี้ย และเนื่องจากเป็นบริการที่ไม่มีหลักประกัน จึงมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างสูง เป็นต้น การยกเลิกสัญญาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องรู้ว่า การทำลายบัตรมิใช่การยกเลิกสัญญา เนื่องจากบัตรเป็นเพียงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามสัญญา เท่านั้น จึงต้องดำเนินการยกเลิกสัญญา เพื่อยกเลิกการมีวงเงินพร้อมใช้บันทึกอยู่ในรายงานบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ด้วย

“คุณธรรม” คือ การไตร่ตรองรู้ควรไม่ควรด้วยตนเอง ต่อประเด็นเรื่องดอกเบี้ย หลายคนอาจจะย้อนแย้งว่า ยังไงก็ต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบ ประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ค้าน เพียงแต่จะตั้งหลักให้คิดว่า การจะเป็นหนี้จากการใช้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบ นั้น อยู่บนพื้นฐานความ พอประมาณ คือความสามารถในการชำระ เหตุผล คือจำเป็นหรือไม่ และภูมิคุ้มกัน คือหากเกิดข้อขัดข้องในการชำระ มีเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ รองรับหรือไม่ เพราะถ้าขาดหลักนี้แล้ว เมื่อเป็นหนี้มีปัญหาก็จะแก้ไขได้ยาก

จากการจัดโครงการประกวด “ครูต้นแบบการวางแผนทางการเงินดีเด่นภาคใต้ ปี 58” ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ พบว่า คุณครูตุ๊กตา บุญศิริ  ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สามารถใช้หลักคิดดังกล่าวกับการใช้บัตรเครดิต ส่งผลให้ได้รับประโยชน์ในรูปแบบของการสะสมคะแนนแล้วนำไปแลกเป็นของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากชวนให้คิดตระหนักกับการใช้บัตรเครดิตว่าควรมี “ความรู้ และคุณธรรม” เพราะหากขาดหลักคิดดังกล่าวก็จะขาดการยับยั้งชั่งใจ และเชื่อเถอะว่า เมื่อกลายเป็นหนี้มีปัญหาแล้ว จะแก้ไขได้ยาก ครับ

1213.jpg

(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย) ผู้เขียน นายประสิทธิ์ สุวรรณสุนทร