สงขลา ย้ำแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างจริงจัง


22 มิ.ย. 2561

รองผู้ว่าฯ สงขลา ย้ำแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามมาตรการต่าง ๆ

PNEWS18062112545501301.jpeg

วานนี้ (21 มิ.ย. 61) ที่โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ฯ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับอำเภอในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จังหวัดสงขลา รุ่นที่ 1 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา , สำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา ฯลฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในระดับอำเภอของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ. อำเภอ) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับอำเภอในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จังหวัดสงขลา รุ่นที่ 1 ในครั้งนี้ ว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และจังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อย่างที่ทราบกันดีว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกระดับ เพื่อให้เกิดการบูรณาการจากทีมสหสาขาและการส่วนร่วมของท้องถิ่น ร่วมกันคิดหามาตรการแก้ไขร่วมกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การสอบสวนการบาดเจ็บเพื่อชี้เป้าและการจัดการแก้ไขจุดเสี่ยง การออกมาตรการการแก้ไขที่ตรงจุด การกำหนดเป้าหมายและพื้นที่เข้มข้น และการประเมินอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้หน่วยงานในระดับอำเภอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด แขวงการทางหมวดการทาง ขนส่งจังหวัด สถานศึกษา หรือภาคเอกชน คปภ. บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมไปถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่น ร่วมดำเนินการโดยผ่านช่องทางระบบการทำงานต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งจะสามารถประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ จะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.)

โดยขอเน้นย้ำแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ. อำเภอ) ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หลับใน ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และตัดหน้ากระชั้นชิด

2.ให้นำนโยบาย “ประชารัฐ” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ใช้กลไก “สถาบันครอบครัว” “ด่านชุมชน” และส่งเสริมบทบาทของสตรีในการเฝ้าระวัง ป้องปรามบุคคลในครอบครัวและชุมชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง พร้อมทั้งผลักดันให้มีการจัดทำแผนชุมชนด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ และชัดเจน ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ในรูปแบบ“เคาะประตูบ้าน” การใช้สื่อท้องถิ่น อาทิ เสียงตามสาย หอกระจายข่าวชุมชน

3.ให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ทุกแห่ง ทุกระดับชั้น จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ ความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนจนเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน

4.ในกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่หรืออุบัติเหตุที่น่าสนใจในพื้นที่ให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป

5.กำชับให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติและบทลงโทษที่ชัดเจนในกรณีที่บุคลากรในสังกัดกระทำผิด

6.ให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงอย่างต่อเนื่อง นำข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่มาวิเคราะห์ กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง

7.สำรวจจุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดตัดทางรถไฟในพื้นที่ และปรับปรุงแก้ไขโดยมีการกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขให้มีความชัดเจน ในกรณีถนนที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดเก็บข้อมูลจุดเสี่ยง จุดอันตราย และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนในระดับชุมชน พร้อมทั้งรายงานผลต่อศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

8.บูรณาการข้อมูล 3 ฐาน ในระดับอำเภอ เพื่อให้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนมีความเป็นเอกภาพและจัดทำเป็นข้อมูลแห่งชาติที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกหน่วยงาน

9.กำหนดให้มีการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนเพื่อรับทราบสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน ติดตามการปฏิบัติ กำหนดมาตรการ แนวทางในการแก้ไขปัญหา และกระผมขอเสนอแนวคิดโดยประยุกต์แนวคิดขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือกลยุทธ์ 5 ส ในการแก้ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ประสบความสำเร็จที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว รูปแบบการการดำเนินการมีหลายรูปแบบและหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมหลายภาคส่วนเป็นสหสาขาในการแก้ไขปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหาที่สำคัญในหลักการส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับหลักการขององค์การอนามัยโลกที่สรุปไว้ ซึ่งประยุกต์เป็นกระบวนการแบบไทย ว่า 5 ส.ดังนี้

1.สารสนเทศ คือการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากหลายแหล่งทั้งข้อมูลเชิงปริมาณจากหลายหน่วย และเชิงคุณภาพที่ได้จากการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แสดงสำหรับวิเคราะห์ประเด็นปัญหาของชุมชน

2. สุดเสี่ยง คือ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงลึก เพื่อให้มองเห็นปัญหาในพื้นที่ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ทราบกลุ่มเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง แล้วนำปัญหามาจัดลำดับความสำคัญ

3.สหสาขาวิชาชีพ เมื่อหาสุดเสี่ยงได้แล้ว ให้นำปัญหาที่ได้มาร่วมกันพิจารณากับสหวิชาชีพจากหลายภาคส่วนในชุมชนหลายหน่วยที่มีบทบาทหน้าที่ ความชำนาญในแต่ละด้าน ร่วมกันวิเคราะห์ กำหนดมาตรการวางแผนการดำเนินงานแก้ปัญหา

4. สุดคุ้ม คือเลือกมาตรการ/วิธีการที่มีความเป็นไปได้สูง มีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชนและคุ้มค่า มาดำเนินการก่อน เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

5.ส่วนร่วม คือการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคประชาชนในพื้นที่และภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการ ติดตามประเมินผล และนำผลการดำเนินงานมาร่วมกันสรุปบทเรียนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมาเป็นกรอบการดำเนินงาน 10 กิจกรรม ดังนี้

1. การจัดการข้อมูล การเฝ้าระวัง และการทำสถานการณ์ปัญหา

2. การสอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน

3. การขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของทีมสหสาขา

4. มีแผนงาน/โครงการ

5. การชี้เป้าและการจัดเสี่ยง/ถนนเสี่ยง

6. การดำเนินงานตามาตรการชุมชน/ด่านชุมชน

7. การดำเนินงานมาตรการองค์กร

8. การรณรงค์ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน

9. การขับเคลื่อนทีมระดับตำบล

10. การสรุปผลการดำเนินงาน

และขอให้ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ. อำเภอ) ได้รายงานจำนวนกิจกรรมที่เกิดขึ้น/จำนวนครั้งการเกิดเหตุ/การบาดเจ็บ/การเสียชีวิต การเปรียบเทียบย้อนหลัง เพื่อติดตามประเมินผล จำแนกถนนที่เกิดเหตุ ผลการดำเนินงานอื่น ๆ มายังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดขบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

PNEWS18062112545501303.jpeg

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา