ลดภาระหนี้ ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์?


12 มี.ค. 2559

ลดภาระหนี้ ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์?

1213_logo_new.png

สำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะถอนเงินออมทั้งก้อนเพื่อจ่ายซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงอย่างบ้านสักหลัง หรือรถยนต์สักคัน ดังนั้น การผ่อนชำระกับธนาคารจึงเป็นทางเลือกที่หลาย ๆ คนเลือกใช้ ซึ่งโดยมากแล้วธนาคารจะใช้วิธีส่งเสริมการตลาดโดยเสนอดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำในช่วงปีแรกๆ แล้วค่อยขยับขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปีถัดๆไป ส่งผลให้มีภาระการผ่อนชำระสูงขึ้น ดังนั้น ทางออกหนึ่งที่หลายคนเลือกใช้ ก็คือการเปลี่ยนเจ้าหนี้ที่เสนอเงื่อนไขการกู้ยืมที่ดีกว่า ซึ่งวิธีการที่ว่านี้เราเรียกว่า “รีไฟแนนซ์” (Re-finance)

การรีไฟแนนซ์ ก็เปรียบได้กับกระแสน้ำที่มักจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บของธนาคารไหนต่ำกว่า
ผู้กู้ก็มักจะเฮโลไปทางนั้น อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไหลไปตามกระแสน้ำ ผู้กู้ควรจะศึกษาข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาเดิม และสัญญาใหม่ให้ละเอียด เพื่อจะได้ไม่พลาดท่าเสียทีให้กับโปรโมชั่นที่แฝงมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด สำหรับการพิจารณาว่าการรีไฟแนนซ์คุ้มค่าหรือไม่นั้น สามารถใช้ 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อคำนวณก่อนที่คุณจะตัดสินใจ ดังนี้ครับ

ขั้นตอนแรก เริ่มจากรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อคิดจะรีไฟแนนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานราชการ เช่น ค่าธรรมเนียมไถ่ถอนและจดจำนองหลักประกันใหม่ (ประมาณ 1% ของวงเงินจำนอง แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท) ค่าอากรแสตมป์ (0.05% ของวงเงินกู้แต่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท)

ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารใหม่ เช่น ค่าธรรมเนียมจัดการวงเงินกู้ ค่าประเมินหลักประกัน

ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารเดิม เช่น ค่าธรรมเนียมชำระหนี้สินก่อนกำหนด (Prepayment Fee) ซึ่งโดยทั่วไปกำหนดอยู่ที่ 3 ปี และคิดในอัตรา 3% ของวงเงินกู้ หรือจากยอดหนี้คงค้างแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร

ขั้นตอนที่สอง คำนวณดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์ โดยนำเงินต้นคงเหลือคิดคำนวณกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเสนอ จนกระทั่งสิ้นสุดสัญญา ทั้งในส่วนของเงื่อนไขเดิมและเงื่อนไขใหม่ เพื่อหาส่วนที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ย ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถสอบถามรายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมได้จากธนาคารแต่ละแห่ง

ขั้นตอนสุดท้าย นำส่วนที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ย หักลบกับส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถทราบได้ว่าการรีไฟแนนซ์ด้วยเงื่อนไขใหม่จะคุ้มค่าต่อการตัดสินใจหรือไม่

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะรีไฟแนนซ์ คุณต้องติดต่อเดินเรื่องรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ให้สำเร็จก่อน จึงขอไถ่ถอนหลักประกัน หรือปิดบัญชีกับธนาคารเดิม เพื่อทำสัญญาและผ่อนชำระกับธนาคารใหม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่ธนาคารเดิมจะพยายามรักษาลูกค้าไว้โดยเสนอเงื่อนไขใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม โดยปกติการไถ่ถอนหลักประกันจะใช้เวลา 15 – 30 วัน ในกรณีที่ธนาคารเดิมดำเนินการไถ่ถอนล่าช้ากว่าที่กำหนด และมีเหตุอันไม่สมควรที่ทำให้ล่าช้า คุณสามารถร้องเรียนไปที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือสายด่วน 1213 เพื่อประสานงานกับธนาคารดังกล่าวให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

ดังนั้นก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยเงินผ่อน ควรวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบทั้งในส่วนของการผ่อนชำระ และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ควรจ่ายเงินดาวน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือนลง กรณีจำเป็นต้องการรีไฟแนนซ์ ก็ขอให้คิดให้รอบคอบก่อนว่าภาระหนี้และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายโดยรวมสูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

cjhcdcb7g6iaekkkbf8c8.jpg