คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.โชว์ 4 ผลงานเด่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์


18 ก.ค. 2561

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้อนรับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ม.อ. และสื่อ 5 จังหวัดและส่วนกลาง นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โชว์ห้องผ่าตัดแบบพิเศษ Hybrid Operating Room , Minii Scan นวัตกรรมเครื่องตรวจหาหินปูนในชิ้นเนื้อจากเต้านมเครื่องแรกของโลก, PSU- CTC ศูนย์ฝึกทักษะทางคลินิก แห่งแรกในภาคใต้และ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด

page.jpg

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า ครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้อนรับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ม.อ. และสื่อ 5 จังหวัดและส่วนกลางเพื่อสานสัมพันธ์เครือข่ายและความร่วมมือในการเผยแพร่ผลงานของมหาวิทยาลัยเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของ ระบบ PSU System เรานำเสนอ4 ผลงานเด่นที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่

IMG_1391.JPG

รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ 

1.Hybrid Operating Room  คือ ห้องผ่าตัดแบบพิเศษ ที่ช่วยให้กระบวนการวินิจฉัยและรักษาทั้งการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือด และการผ่าตัด ให้สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เดียวกัน การออกแบบห้องและอุปกรณ์ภายใน เอื้อต่อการรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและเต็มศักยภาพ ตัวห้องผ่าตัดแบบ Hybrid ประกอบด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในการรักษาโรค และการบาดเจ็บของหลอดเลือด ในขณะเดียวกันเมื่อจำเป็นก็สามารถทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยภายในห้องผ่าตัดแบบ Hybrid นี้ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอีก

นอกจากนี้ Hybrid Operating Room ยังสามารถจัด Teleconference สำหรับการสอนแสดงและนำเสนอการผ่าตัดไปยังห้องประชุม หรือโรงพยาบาลต่างๆทั่วโลก เพราะภายในห้อง ประกอบด้วยกล้องวิดีโอ 3 ตัว และระบบ software ถ่ายทอดสัญญาณ ซึ่งจะช่วยในการฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจทางด้านโรคหลอดเลือด

IMG_1417.JPG

2. Minii Scan สิ่งประดิษฐ์ใหม่จากคณะแพทยศาสตร์ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ หรือ MiniiScan ซึ่งเป็นเครื่องขนาดเล็กเครื่องแรกของโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมแบบสามมิติ สามารถแยกแยะบริเวณที่เป็นมะเร็งหรือมีหินปูนผิดปกติ พบว่าให้ผลการตรวจที่รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยหวังผลสู่ระดับนานาชาติ

จุดเด่นของเครื่องตรวจ MiniiScan นี้คือ เครื่องมีขนาดเล็กสามารถวางไว้ในห้องผ่าตัดได้ เครื่องตรวจชิ้นเนื้อที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะใช้การหมุนของแท่นวางชิ้นเนื้อทำให้ประหยัดพื้นที่ เครื่องตรวจจึงมีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้ นำไปไว้ในห้องผ่าตัดได้ สามารถตรวจชิ้นเนื้อได้ง่าย ผู้ใช้สามารถทำได้ด้วยตนเองและประมวลผลได้รวดเร็ว เนื่องจากเครื่องติดตั้งและใช้งานภายในห้องผ่าตัด หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดชิ้นเนื้อจะถูกส่งตรวจได้ทันที เครื่องนี้ใช้เวลาในการประมวลผลภาพประมาณ 5 นาที จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า สามารถลดระยะเวลาการตรวจชิ้นเนื้อได้ถึง 15 นาที นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่นที่ต้องการตรวจขอบเขตความห่างจากพื้นผิวของก้อน เช่น ตับ ตับอ่อน เป็นต้น

IMG_1377.JPG

3. PSU- CTC ชื่อเต็มๆว่า PSU  CLINICAL TRAINING CENTER ศูนย์ฝึกทักษะทางคลินิก แห่งแรกในภาคใต้ แหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความทันสมัย และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ศูนย์ PSU-CTC ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 6 อาคารแพทยศาสตรศึกษาราชนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นแหล่งให้บริการทางวิชาการ ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย โดยฝึกให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในหลักสูตรก่อนและหลังปริญญาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์ เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล

อ.นพ.ปัณณวิชญ์  เบญจวลีย์มาศ ผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า ความพิเศษภายในศูนย์ คือ การจำลองการรักษาที่คล้ายกับที่แพทย์ต้องพบในการปฏิบัติงานจริง โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

IMG_1418.JPG

1. Communication and History taking การจำลองห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) 12 ห้อง ภายในห้องมีโต๊ะ และเตียงตรวจผู้ป่วย สามารถบันทึกวิดีทัศน์เพื่อนำมาfeedback ได้ภายหลัง และอาจารย์ผู้สอนสามารถ observe กิจกรรมผ่านกระจกห้องตรวจทุกห้องได้ ซึ่งห้องนี้ผู้เรียนจะทำการซักประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ในการเรียน ผู้ป่วยจะได้ทำการทดสอบทั้งจากผู้ป่วยที่เป็นคนจริงๆ แต่จะเรียกว่าผู้ป่วยจำลอง เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ จะได้รับบทบาทสมมติว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้วให้นักศึกษาแพทย์เป็นผู้ซักถามอาการและรายละเอียดต่างๆ แล้ววินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำลองรายนั้น ป่วยเป็นโรคอะไร

IMG_1452.JPG

2.Simulation Training เป็นการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งห้องนี้จะมีความพิเศษคือ นักศึกษาแพทย์ หรือแพทย์ หรือผู้ฝึก จะต้องทำการรักษา ผ่าตัด หรือช่วยเหลือผู้ป่วยที่เหมือนสถานการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายน้ำเกลือ การฉีดยา การผ่าตัด การห้ามเลือด หรือแม้แต่การใส่Tube โดยจะมีหุ่นจำลอง 1 ตัว ที่สามารถขยับ หายใจ ร้อง กระตุก เหมือนผู้ป่วยจริงๆ โดยก่อนการทดสอบ เจ้าหน้าที่จะกำหนดโปรแกรมให้หุ่นว่าจะต้องมีอาการอะไรบ้าง หลังจากนั้น จะให้นักศึกษาเข้ามาดำเนินการทำจริง ถ้าทำถูกหุ่นก็จะปลอดภัย แต่หากทำผิด หุ่นอาจจะแสดงอาการโดยการ้อง กระตุก หยุดหายใจ หรืออาการอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสอนให้ผู้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ทำนั้นผิด และต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

โดยภายใน ศูนย์ฯนอกจากจะมีหุ่นจำลองในห้อง Simulation Training แล้ว ยังมีหุ่นจำลองอื่นๆอีกหลายแบบ ได้แก่ หุ่น Sim Man 3G,  หุ่น Sim Man Essential,  หุ่น Sim Junior,   หุ่น Sim Baby, Sim Bionix (ฝึก Lab Mentor),  กล้องจุลทรรศน์ฝึกผ่าตัด (Microsurgery),   หุ่น Trauma Man

IMG_1461.JPG

3. CPR Training เป็นการจำลองการช่วยชีวิตโดยหุ่นจำลอง ได้แก่ หุ่นช่วยชีวิตผู้ใหญ่,   หุ่นช่วยชีวิตเด็กโต,   หุ่นช่วยชีวิตเด็กทารก

ในปัจจุบัน PSU-CTC  สามารถรองรับการฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในหลักสูตรก่อนและหลังปริญญาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจวิธีการรักษาและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในอนาคตที่จะมั่นใจว่า แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ จะมีความเชี่ยวชาญและความชำนาญในการรักษาเพิ่มมากขึ้น จากการเรียนด้านทฤษฎี และการฝึกฝนด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึง การเรียนโดยผ่านศูนย์ PSU Clinical Training Center ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นเป้าหมายสูงสุด

IMG_1499.JPG

4. ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาล ม.อ. กับนวัตกรรมการรักษาโรคหัวใจแบบใหม่ เปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด แห่งแรกในส่วนภูมิภาค คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผล ภาวะแทรกซ้อนน้อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน

ปัจจุบัน ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคหัวใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น โดยมีการบุกเบิกการทำหัตถการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ aortic ผ่านทางสายสวนนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในส่วนภูมิภาคที่ได้นำวิธีการนี้มาใช้ โดยได้ศึกษาและพัฒนาทีมรักษาด้วยวิธีนี้มาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี แต่เริ่มนำมาใช้รักษาคนไข้ตั้งแต่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 มีคนไข้รับการรักษาไป 8 คน อายุตั้งแต่ 75-91 ปี มีผลการรักษาที่ดี สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นคนทั่วไป การรักษาด้วยวิธีนี้ ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว ส่วนในเอเชียและในประเทศไทยเพิ่งได้มีการนำมาใช้กันไม่นานมานี้ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานคร

การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน มีลักษณะการรักษาคล้ายกับการทำบอลลูน คือคนไข้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก เพียงใส่สายเข้าไปทางเส้นเลือดบริเวณแขน ขา หรือคอ แล้วใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านทางหลอดเลือด ซึ่งข้อดีของการรักษาแบบนี้คือคนไข้ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผลบริเวณหน้าอก ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ซึ่งผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ คือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อต้องรับการผ่าตัด ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะตอบโจทย์ในการรักษาผู้สูงอายุหรือผู้ที่ความเสี่ยงสูงอื่นๆ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นที่แรกและที่เดียวในภูมิภาค ที่ให้การรักษาด้วยวิธีนี้ การรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนต้องมีการร่วมทำงานเป็นทีม ระหว่างอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทีมพยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งการสามารถร่วมรักษาเป็นทีมถือเป็นจุดเด่นของการรักษาของที่นี่ นอกจากต้องมีความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์แล้ว ยังต้องมีห้องผ่าตัดแบบ Hybrid ที่มีโปรแกรมสำหรับทำการหัตถการ TAVR (Transcatheter Aortic Valve Replacement) โดยเฉพาะ และสามารถรองรับการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินได้ซึ่งจะมีอยู่ไม่กี่แห่ง

IMG_1386.JPGIMG_1384.JPGIMG_1396.JPGIMG_1402.JPGIMG_1405.JPGIMG_1436.JPGIMG_1439.JPGIMG_1459.JPGIMG_1460.JPGIMG_1477.JPGIMG_1485.JPGIMG_1505.JPGIMG_1486.JPGIMG_1494.JPGIMG_1499.JPG