มรภ.สงขลา ผนึกวิทยาลัยชุมชนหารือทำหลักสูตรร่วม


17 มี.ค. 2559

มรภ.สงขลา จับมือวิทยาลัยชุมชน หารือความเป็นไปได้พัฒนาหลักสูตรเฉพาะ สร้างโอกาสนักศึกษาอนุปริญญา เรียนต่อ ป.ตรี เล็งสร้างระบบให้บริการวิชาการเต็มรูปแบบ หวังท้องถิ่นได้ประโยชน์สูงสุด

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะบุคคลจากวิทยาลัยชุมชนสงขลา ได้เข้าพบผู้บริหาร มรภ.สงขลา เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการศึกษา ซึ่งได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องด้านรูปแบบการเรียนการสอน หากจะต่อยอดจำเป็นต้องให้นักศึกษาที่จบอนุปริญญาจากวิทยาลัยชุมชน เข้ามาเรียนเตรียมความพร้อมก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีมาตรฐานแบบเดียวกัน ที่ผ่านมา มรภ.สงขลา พยายามทำเรื่องพัฒนาชุมชนเป็นงานหลัก อย่างเช่น นำนักเรียนมาเข้าค่ายสำหรับถ่ายทอดทักษะโดยตรง ซึ่งหากสามารถสร้างระบบการให้บริการวิชาการได้อย่างเต็มรูปแบบ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างยิ่ง วิทยาลัยชุมชนน่าจะช่วยในเรื่องข้อมูลได้ เพราะนักศึกษาของวิทยาลัยฯ อาศัยอยู่ในพื้นที่และมีความคล่องตัวมากกว่า

12596596_10208587704027884_1045880070_o.jpg
ด้าน นายนิยม ชูชื่น ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา กล่าวว่า วิทยาลัยชุมชนฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งสร้างโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีข้อจำกัดในการเข้าศึกษาระบบปกติ แต่ต้องยอมรับว่าสังคมบ้านเราใช้ตัวปริญญาเป็นตัวชี้วัด ดังนั้น การมาเยือน มรภ.สงขลา ในครั้งนี้ก็เพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถเข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ อีกเรื่องคือ การร่วมกันทำวิจัยพัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งต้องให้ มรภ.สงขลา ช่วยในเรื่องนี้ เป็นไปได้ไหมที่ต่อไปจะมีการเทียบโอนหลักสูตรจากวิทยาลัยชุมชน หรืออาจเป็นในลักษณะพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้โอกาสคนที่ขาดโอกาสได้มีทางเลือกในการศึกษาต่อมากขึ้น

ดร.ครวญ บัวคีรี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย มรภ.สงขลา กล่าวว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตบัณฑิต อย่าง มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เราอยู่ในพื้นที่ร่วมกับชุมชนอย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งความเป็นไปได้ในการที่จะพัฒนาหลักสูตรร่วมกันนั้น หากได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับวิทยาลัยชุมชมชนก็คงจะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น มรภ.สงขลา พร้อมที่จะช่วยสร้างหลักสูตรแล้วเดินไปด้วยกัน แต่การสร้างหลักสูตรใหม่ควรเกิดจากความต้องการและตอบโจทย์คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ลิมปนะพิทยาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเทียบโอนหลักสูตรว่า อาจเทียบโอนจากหลักสูตรที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด หรืออาจปรับหลักสูตรทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้สามารถต่อยอดได้ง่ายขึ้น โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 3 ปี ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความพร้อมของทางหลักสูตรด้วย

นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา มรภ.สงขลา มีการพูดคุยกับหลายฝ่ายทั้งภาคธุรกิจสถาบันการศึกษา กงสุลประเทศต่างๆ รวมถึงบริษัทที่จ้างงานด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคตนักศึกษาที่เข้าเรียนจะน้อยลง หลายแห่งประสบปัญหานี้จนต้องปิดตัวไป ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะต่างคนต่างอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงมิติของการจัดการศึกษา ต่อไปเมื่อนักศึกษาลดจำนวนลง ก็ต้องเพิ่มเรื่องคุณภาพให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ความจำเป็นใหญ่หลวงคือ การจับมือกันในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เราต้องสร้างคนคุณภาพเพื่อให้บริษัทใหญ่ๆ มาลงทุน นี่คือเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องช่วยกันคิด และต้องคุยกันถี่ขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต

ข้อมูลและที่มา

ลัดดา เอ้งเถี้ยว  (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

12837257_10208587703347867_586057358_o.jpg12837756_10208587704347892_2014738928_o.jpg