โรงพยาบาลสัตว์ ม.อ. เปิดบริการ พร้อมขยายรองรับสัตว์เศรษฐกิจแดนใต้


22 ธ.ค. 2558

รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงอุษา เชษฐานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในโอกาสการเปิดให้บริการเป็นวันแรกของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 21 ธันวาคม 2558 ว่า โรงพยาบาลสัตว์จะเปิดให้บริการแก่สัตว์ 3 ประเภท คือ สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน สัตว์บริโภค และ สัตว์พิเศษ เช่น หนู งู จระเข้ นก

โดยมีคลินิกรองรับสัตว์ป่วยและบาดเจ็บด้วยอุบัติเหตุ มีสัตวแพทย์ทางอายุรกรรม ศัลยกรรม กระดูก และคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษาสัตว์ มาช่วยดูแล เบื้องต้นสามารถรับสัตว์ป่วยได้ประมาณ 30 ราย ต่อวัน แต่จะยังไม่พร้อมสำหรับการบริการนอกเวลาราชการ และการรับดูแลรักษาสัตว์ใหญ่ เช่น ม้า ซึ่งต่อไปจะขยายส่วนการบริการไปยังพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ตำบลทุ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการบริการได้อีกเป็น 100 รายต่อวัน
การให้บริการของโรงพยาบาลสัตว์ จะเป็นการให้บริการพื้นฐาน เช่น วินิจฉัยโรค เอกซเรย์ อัลตราซาวน์ ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ การบริการชันสูตรซากกรณีสัตว์บริโภคเกิดตายลงจำนวนมาก เพื่อให้รู้สาเหตุและวางแผนควบคุมโรคป้องกันโรค ทั้งโรคติดต่อในสัตว์และโรคที่สามารถติดต่อมายังคนได้ รวมทั้งโรคสัตว์ข้ามแดนต่างๆ ในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายจะเป็นโรงพยาบาลสัตว์ระดับตติยภูมิ เพื่อรับสัตว์ป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อน รักษายากต่อจากโรงพยาบาลอื่น จะมีการให้บริการรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น ฟัน กระดูก ข้อต่อ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง เป็นต้น

โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานสังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2558 จำนวน 20 คนเป็นปีแรก ซึ่งนอกจากจะมีการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่สัตวแพทยสภากำหนดแล้ว ยังมีวิชาที่เป็นไปตามบริบทของการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ และความต้องการของพื้นที่ เช่น จะต้องมีความรู้เรื่องสัตว์น้ำ แพะ นก อาหารฮาลาล เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ การร่วมมือจากคณะและหน่วยงานภายใน และสถาบันอุดมศึกษาศึกษาอื่นๆ และกำลังเริ่มได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย โดยผู้เลี้ยงม้าในเมืองอิโปห์ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งความประสงค์ยินดีรับนักศึกษาจากคณะเข้าฝึกงาน

“ ต้องยอมรับว่าเกษตรกรในภาคใต้นิยมการเพาะปลูกพืชมากกว่าการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามภาคใต้มีสัตว์ที่มีเอกลักษณ์และสัตว์เศรษฐกิจอยู่หลายชนิด เช่น วัวชน นกเขาชวา นกกรงหัวจุก ซึ่งบางชนิดเป็นที่สนใจในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายในการใช้เทคนโลยีในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เพื่อเปิดตลาดได้มากขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าว4.png1.png2.png3.png