สงขลา ขับเคลื่อนการจัดตั้ง ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา 1 ใน 10 แห่งของประเทศ


22 ก.พ. 2562

จังหวัดสงขลา ขับเคลื่อนการจัดตั้ง “ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา” 1 ใน 10 แห่งของประเทศ มุ่งช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหา ป้องกันการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมโลก

ช่วงบ่าย วันนี้ (21 ก.พ. 62) ที่ห้องประชุมอาคารส่วนบริหารการจัดระบบแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลา ถนนราชดำเนิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุม เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดสงขลา , นายนิยม สองแก้ว แรงงานจังหวัดสงขลา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา , สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา , สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา , สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา , ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา , มูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้อนุมัติโครงการศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ได้พิจารณาเห็นชอบให้กรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ปรึกษา รับทราบปัญหา แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงาน สำหรับปัญหาอื่น อาจประสานหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือส่งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

โดยอธิบดีกรมการจัดหางานกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 10 แห่ง คือ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดตาก จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติงานของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด เป็นไปตามความคาดหวังของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) จังหวัดสงขลา จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลาขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ด้าน นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เข้ามาทำงานประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และต่างประเทศให้ความสนใจกับการดำเนินการของไทยเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าว การควบคุมดูแลสิทธิประโยชน์ หลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว จึงมีการประเมินผลกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และการจัดลำดับ Tier 2 จากการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลก และการส่งออกสินค้าในกลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ดังนั้น การดูแลแรงงานต่างด้าวในเทศไทยกรณีที่แรงงานต่างด้าวประสบปัญหา หรือได้รับความเดือดร้อนจะต้องมีหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาให้แก่แรงงานในเบื้องต้น จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเพื่อประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เห็นชอบให้กรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ปรึกษา รับทราบปัญหา แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงาน รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

สำหรับศูนย์ฯ ดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาการทำงานในประเทศไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือ หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล และสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีปัญหา เพื่อพักระหว่างรอรับการช่วยเหลือ หรือรอส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสังคมโลกต่อไป โดยมีเป้าหมายเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดสงขลา จำนวน 1,200 คน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการร่วมพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา , โครงสร้างการดำเนินงานของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา , สถานที่ตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา , งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา พร้อมร่วมหารือพิจารณาคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา รวมถึงขั้นตอนการปฎิบัติงานศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดสงขลา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา