ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนมีนาคม 2559


5 เม.ย. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 46.5 เพศหญิง ร้อยละ 53.5 และส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 35 – 44 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.7 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 39.8         

01.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนมีนาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย  เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทุกตัวปรับลดลงเพียงเล็กน้อย ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว มีการปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์อย่างชัดเจน เนื่องจากเดือนมีนาคม ไม่มีเทศกาลต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้คนออกมาท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นรายได้จากการทำงาน  โอกาสในการหางานทำ  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  และรายจ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์  เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจภาคใต้   ราคายางพารา และราคาพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ยังไม่มีความแน่นอน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในสิ่งที่ไม่จำเป็นในครัวเรือน

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น  ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 50.50 บาท (การยางแห่งประเทศไทย, 29 มี.ค. 2559) รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางของรัฐบาล และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 68.3 และ 61.3 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 18.8 และ 21.2 ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอสังหาฯ และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว คิดเป็น     ร้อยละ 28.2 และ 26.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อนุมัติออกมา  เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559ได้แก่ โครงการบ้านประชารัฐ การนำใบเสร็จการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์มาใช้ลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการแจกโบนัสข้าราชการ และแจกเงินผู้มีรายได้น้อย (ไทยรัฐออนไลน์, 29 มี.ค. 2559)

โดยปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ การว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 17.7 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน ค่าครองชีพ และค่าจ้างแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 17.5  16.7 และ 11.6 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ การว่างงาน รองลงมา คือ เศรษฐกิจทั่วไป ค่าครองชีพ และหนี้สินครัวเรือน ตามลำดับ