ศอ.บต.จัดมหกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้


13 มี.ค. 2562

ศอ.บต. จัดงานมหกรรมขับเคลื่อน การพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนา จชต. บูรณาการกับทุกภาคส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (13 มี.ค.62) เวลา 09.00 น. ที่ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ศอ.บต.จัดงาน “มหกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” บนฐานการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และ ศอ.บต. ที่ปรับปรุงบทบาทใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการบูรณาการในมิติงานด้าน การพัฒนา มุ่งเน้นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาของกระทรวง กรมและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดเอกภาพ มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชน เร่งรัดผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เสริมการทำงานให้มีความต่อเนื่อง มิให้เกิดช่องว่าง และสนับสนุน การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า เพื่อให้งานพัฒนาเป็นส่วนสำคัญเสริมงานมั่นคงและเข้าถึงใจของประชาชน โดยการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ เพื่อขยายผลไปสู่เมืองข้างเคียง และการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการหลักด้านเศรษฐกิจ 5 โครงการ ได้แก่

การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก มุ่งพัฒนาที่ฐานรากครัวเรือนและสร้างความเข้มแข็งที่ชุมชน เน้นวิสาหกิจชุมชนและผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น อาทิ พัฒนาฟาร์มสวนยางพารานำร่อง ตำบลละ 1 แห่ง รวม 282 แห่ง พัฒนาพื้นที่เกษตรรกร้าง พัฒนาเครือข่ายไก่เบตงและวิสาหกิจโคเนื้อประชารัฐ ส่งเสริมความเข้มแข็งวิสาหกิจชุมชน กว่า 30 กลุ่ม แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่เป็นตามความต้องการของตลาดที่สำคัญ ทั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพารา วิสาหกิจชุมชนประมงชายฝั่ง ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ผลักดันประมงพื้นบ้านต้นแบบ และการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการสร้างเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเน้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ขยายผลจากเมืองเบตง ต้นแบบการพัฒนาท่องเที่ยวพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ SME สู่ Smart up , Smart SME เป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป้าหมายสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำธุรกิจเกษตรแปรรูป ใช้นวัตกรรมหนุนเสริม ลดพื้นที่ ลดต้นทุน ผลผลิตมีคุณภาพสูง ตรงกับความต้องการของตลาด ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจฮาลาลครบวงจรทั้งการท่องเที่ยว สุขภาพ สปา และผู้ประกอบการอาหารอาลาล

การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Deep South Economic Corridor) เชื่อมโยงเมืองต้นแบบ “ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” 4 เมือง ร่วมกับพื้นที่เศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ 14 แห่งที่พัฒนาร่วมกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง เชื่อมต่อ การทำเกษตรฐานราก เศรษฐกิจชุมชนให้สอดรับกับความต้องการภาคเกษตรอุตสาหกรรม เชื่อมห่วงโซ่คุณค่าผลผลิต พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาที่สอดรับกับตลาดแรงงานของนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วมีงานทำ เชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจกับภาคใต้ตอนบน SEC EEC กลุ่มประเทศอาเซียน จีนและประเทศมุสลิม พร้อมพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกรอบ IMT-GT ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 ประกอบด้วย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและ 2 รัฐของมาเลเซียเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตามที่นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา

การบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการบริหารจัดการตนเอง ศอ.บต. ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบ-ครบวงจร ผ่านคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการไฟฟ้าทั้งระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ การกำหนดประเภทไฟฟ้า ราคาขาย การเชื่อมโยงภาคการเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร การจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐและศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านพลังงาน เบื้องต้นจะสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก 1 หมู่บ้าน 1 โรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน

การบริหารจัดการภาครัฐ มิติใหม่การบริหารจัดการภาครัฐ ในปี 2562 มุ่งเน้นยกระดับการบริการภาครัฐต่อประชาชนที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น จัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริการการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านการออกแบบกลไกและการบริหารในรูปแบบกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็นคนดี คนเก่งและเป็นมืออาชีพ โดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ปัจจุบันฝึกอบรมข้าราชการ พนักงานราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นไปแล้ว ๑,๓๒๐ คน และพัฒนาทีมนักบริหาร ประกอบด้วย นายอำเภอ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ และผู้กำกับการสถานีตำรวจ รวม ๑๓๗ คน

การพัฒนาเสริมความมั่นคง หนุนเสริมงานสร้างสันติสุขของ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคงที่ระดับตำบล ผ่าน โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเชื่อมโยงการทำงานเชิงพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์และการบริหารจัดการภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งความมั่นคงด้านอื่นๆ เช่น เรื่องยาเสพติด ภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ การทำงานของ ศอ.บต. ภายใต้บทบาทใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนมิติด้านการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ มีการเชื่อมโยงในทุกมิติให้ครบวงจรและบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๒ คุณภาพชีวิตของประชาชน ปัญหายาเสพติด สังคมพหุวัฒนธรรม และความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนผลเชิงบวกจากการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้

8.jpg