จังหวัดสงขลา คุมเข้มโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังพบการระบาดในประเทศจีน และเวียดนาม


14 มี.ค. 2562

จังหวัดสงขลา คุมเข้มโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังพบการระบาดในประเทศจีน และเวียดนาม

วันนี้ (14 มี.ค. 62) นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ณ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลาโดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากรายงานการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีรายงานเพิ่มการเกิดโรคในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสุกร และซากสุกรภายในภูมิภาครวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนกับอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคระบาดสัตว์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ก่อให้เกิดโรคในคน และสัตว์ชนิดอื่น เกิดโรคได้เฉพาะในสุกรเท่านั้น โดยเป็นโรคที่มีความรุนแรง และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุกรทุกกลุ่มอายุ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยาในการรักษาโรค หากมีการระบาดเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการประสานงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จังหวัดสงขลา จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยมีการเตรียมแผนความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมใน 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนการระบาดของโรค เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุก และเตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน โดยมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด การตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสุกร และผลิตภัณฑ์จากต่างพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้าน ณ บริเวณด่านกักกันสัตว์สงขลา และด่านศุลกากรจังหวัดสงขลา การให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวในกลุ่มเสี่ยงงดนำผลิตภัณฑ์จากสุกรทุกชนิดเข้าประเทศ มาตรการกำจัดเศษอาหารจากเครื่องบิน ฯลฯ นอกจากนี้หากมีการระบาดของโรคในพื้นที่ ได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในพื้นที่จำกัด และกำจัดโรคให้หมดโดยเร็ว ส่วนหลังการระบาดของโรค จะดำเนินการเก็บตัวอย่างในฟาร์มสุกร และโรงฆ่าสัตว์ในทุกอำเภอทั้ง 16 อำเภอ พร้อมแจ้งการระบาดของโรคให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในการเพิ่มมาตรการเข้มงวดการป้องกันโรคเข้าฟาร์มอีกด้วย

ข่าวสโดย สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา รายงาน 14 มี.ค.62