จัดงาน อภัยให้กันนะ สังคมไทยต้องทบทวนภัยจากน้ำเมา เปิดใจ บังฉ่ำ ผู้เสียหาย 80 ล้านจากคนเมาแล้วขับ


18 มี.ค. 2562

หลายภาคส่วนร่วมงาน อภัยให้กันนะ ให้กำลังใจและระดมทุนช่วยเหลือ บังฉ่ำ ผู้เสียหายจากคนเมาแล้วขับ ด้านบังฉ่ำเผย มันเป็นบททดสอบของตัวผม อยากคนไทยให้รับรู้ว่าการเมาแล้วขับเป็นภัยกับสังคม สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ด้านเครือข่ายองค์กรงดเหล้าร่วมแสดงความเห็น ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายบ้านเมืองต้องเข้มงวด เพิ่มโทษเมาแล้วขับ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมเรียกร้องให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาร่วมรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 16 -17 มีนาคม 62 ที่ผ่านมา ณ ลานหน้าร้านบางกอกลิฟวิ่งมอลล์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง และเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ร่วมจัดงานกิจกรรมส่งเสริมความดี ร่วมให้กำลังใจ ร่วมช่วยเหลือในงาน “อภัยให้กันนะ” สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมานั้น กรณีเมาแล้วขับรถยนต์เสียหลักพุ่งชนเข้าไปในร้านเฟอร์นิเจอร์ ของนายอัชอารีย์ วันอับดุลเลาะห์ หรือ บังฉ่ำ อายุ 51 ปี ในเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จนเกิดไฟลุกไหม้รถและลุกลามไปตัวอาคารและเฟอร์นิเจอร์ จนเกิดความเสียหายในหลายๆด้าน เสียหายรวมแล้วมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างตระหนักรู้ต่อสังคมไทย จากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยงานครั้งนี้มี พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทน เลขาธิการ ศอ.บต. , นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา , นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ,นายอิสมาแอน หมัดอะด้ำ ประธานจัดงานฯ และแขกผู้มีเกียรติอีกจำนวนมากร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

สำหรับการจัดงาน อภัยให้กันนะ ก็เป็นการจัดงานเพื่อช่วยเหลือ นายอัชอารีย์ วันอับดุลเลาะห์ หรือ บังฉ่ำ โดยในงานก็มีการจัดจำหน่ายสินค้าและระดมทุนช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังเป็นการทำเพื่อสังคมให้ตระหนักรู้ในการให้อภัยกัน แบ่งปันความรักเพื่อเพื่อนมนุษย์ นำสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และรณรงค์กระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายอัชอารีย์ วันอับดุลเลาะห์ หรือ บังฉ่ำ เจ้าของร้าน บางกอกลิฟวิ่งมอลล์ ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคนเมาแล้วขับ เปิดเผยว่า สังคมมุสลิม มีบทบัญญัติ แก้ปัญหาแบบสันติวิธี (การให้อภัย) ให้รักตัวเอง รักครอบครัว และ เขา(คนชน)ก็เหมือนคนในครอบครัว การให้อภัยก็เหมือนเป็นการปลดปล่อย มันก็จะทำให้เราไม่มีความทุกข์ เขาก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อเขาขอโอกาสชดใช้ เราก็ให้โอกาส แม้เขาให้ได้เท่าไรเราก็เอาเท่านั้น บังจะไม่ไปฟ้องร้องกัน ซึ่งพอบังให้อภัยแล้ว เขาก็เหมือนได้รับการปลดปล่อย สำหรับบังนี่คือบททดสอบของพระเจ้า เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้เราอ่อนแอ แต่ทำให้เราเข้มแข็ง ลุกขึ้นสู้ เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น

“ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่เป็นห่วงเป็นใย ที่ส่งเข้ามาให้กับครอบครัวมากมาย พร้อมฝากเตือนผู้ดื่มสุราทุกท่านว่า การเมาแล้วขับเป็นภัยกับสังคม สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีให้เห็นมาโดยตลอด ดังนั้นจะทำอะไรต้องมีสติ ไม่ดื่มจะเป็นการดีที่สุด หากคิดดื่มต้องไม่ขับ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และมาตรการทางกฎหมายต้องจริงจังและเข้มงวด”

ภายในงาน อภัยให้กันนะ ทั้งสองวันนี้ ก็มีกิจกรรมต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เวทีเสวนาแก้ไขปัญหา “ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวน ภัย จากน้ำเมา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) , เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) , นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ และนายอัชอารีย์ วันอับดุลเลาะห์ หรือ บังฉ่ำ ร่วมกันเสวนาในครั้งนี้

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เปิดเผยว่า ครึ่งนึงของอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง จะบอกว่ามันไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นความบกพร่องทางสังคม ที่เราเอาน้ำเมามาขับเคลื่อนสังคม พูดตามตรงเลยว่าแค่สามชั่วโมงครึ่ง ของ 2 บริษัทน้ำเมาระดับประเทศ ก็มีรายได้เท่ากับที่บังฉ่ำที่สูญเสียไป อยากบอกว่าคนที่ได้ประโยชน์ต่อความสูญเสียมีอยู่จริงและคนที่ได้รับผลกระทบจากคนเมาจะต้องมีอีกอย่างแน่นอน ถ้าเรายังปล่อย เราจะมีเหตุการณ์แบบนี้ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ไม่แน่ว่าวันนี้วันพรุ่งนี้ก็จะเหตุการณ์แบบนี้อีก บังฉ่ำเสียหายไป 80ล้านบาท เพราะสุรา แต่ประเทศไทยเราแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ อย่างเช่นการตรวจจับ เอาผิดแต่ผู้ดื่ม ไม่เอาผิดผู้จำหน่ายและผู้ผลิตในหลายๆประเทศที่เจริญแล้ว อย่างที่ญี่ปุ่น มีกฎหมายจับคนขายด้วย ถ้าไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้อีก สังคมไทยต้องออกมาแสดงพลังเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการเมาสุรา

ด้านเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนให้อยู่ในความไม่ประมาทเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะเป็นบาดแผลอยู่ในใจไปตลอดชีวิต ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายบ้านเมืองต้องเข้มงวด เพิ่มโทษเมาแล้วขับ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ที่สำคัญธุรกิจน้ำเมามักจะลอยนวลทุกครั้งเมื่อเกิดความสูญเสีย จึงอยากเรียกร้องให้ร่วมรับผิดชอบกับความสูญเสียด้วย เพราะหลายๆกรณีที่เกิดขึ้นแทบจะไม่มีการเอาผิดไปถึงบรรดาผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลยอยากจะเรียกร้องให้ธุรกิจน้ำเมา ทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายออกมาร่วมรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน