เด็กไทยเลือกได้ เรียน บริหารธุรกิจ ตั้งแต่ประถม บริษัทเอกชนร่วมส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ


15 เม.ย. 2562

เด็กไทยเลือกได้ เรียน “บริหารธุรกิจ” ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้ได้ฝึกประสบการณ์ ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่งต่อระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยร่วมกับบริษัทเอกชนส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ มีคุณธรรม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าเมื่อปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลโดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 10 จังหวัดอยู่รอบชายแดนประเทศไทยและต่อมาประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการโดยพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ โดยการสนับสนุนจาก รศ.ดร.บรรพต วิรุณราช อดีตคณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พันเอก ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร และคณะอาจารย์ ดำเนินการวิจัยค้นหาความเหมาะสมว่า นักเรียนผู้ปกครองจะเข้าใจ เข้าถึงและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้อย่างไร ผลจากการวิจัยพบว่านักเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะต้องเรียนวิชาบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจำนวน 14 วิชา 78 บทเรียน 1051 ชั่วโมง ทั้งนี้สามารถเรียนเป็นวิชาเสริม เพิ่มเติมหรือสร้างเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนหรือตั้งเป็นชมรมก็ได้ ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 โรงเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มนำไปใช้และมีการฝึกอบรมครูเพื่อให้เป็นผู้สอนในวิชาบริหารธุรกิจ ไปแล้วกว่า 300 คนด้วย เพราะครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบทางด้านบริหารธุรกิจจึงต้องฝึกอบรมครูก่อน เมื่อเจาะลึกไปถึง 14 วิชาทางด้านบริหารธุรกิจนี้ จะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการผลิต การบริการ การเงิน การบัญชี การตลาด การขาย การจัดการคน กฎหมายธุรกิจ และการจัดการเครือข่าย กลยุทธ์ทางธุรกิจ เน้นการสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ครบระบบธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าหรือเรียกว่าระบบ Value Chain ประกอบด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

สุดท้ายของวิชาบริหารธุรกิจจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของนักเรียนและต้องสามารถขายได้จริงซึ่งในประเด็นนี้ มีบริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก เช่น โครงการทำมาค้าขาย จากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีผลิตภัณฑ์อาจจะเป็นของใช้หรือของกิน จากนั้นแนะนำให้ครูจัดทำกระบวนการทางธุรกิจเพื่อนำไปสอนและแนะนำนักเรียนในระบบ Value Chain ครบระบบซึ่งในโครงการทำมาค้าขายนี้ ปัจจุบันมีการอบรมครู 300 คน เพื่อสอนในวิชาบริหารธุรกิจ ซึ่งได้เริ่มสอนกันแล้วมา 2 ปี

เมื่อมาถึงระดับนักเรียนอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนและมีกลไกให้นักเรียนอาชีวะคิดผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรมโดยนำเข้าไปจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆพิจารณาซื้อชิ้นงานนวัตกรรมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวะไปใช้ประโยชน์ ในธุรกิจหรือในการทำงานจริง และในระดับอาชีวศึกษามีศูนย์ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นจำนวนมากกว่า 100 แห่ง อีกทั้งเมื่อนำศูนย์ฝึกอาชีพระยะสั้นในระดับการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)และศูนย์ฝึกอาชีพระยะสั้นในระดับอาชีวศึกษา รวมกันทำให้มีศูนย์ฝึกอาชีพกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อนักเรียนได้เรียนวิชาบริหารธุรกิจในระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา อาชีวศึกษา สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ตั้งแต่เยาว์วัยหรือสามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ดังนั้น ประเมินว่าในอนาคตจะมีคนไทยที่เรียนรู้การบริหารธุรกิจแบบเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติด้านธุรกิจได้ครบวงจรเป็นจำนวนมากเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันเชิงธุรกิจได้ดีในระดับนานาประเทศ และจัดว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถคิดได้คิดเป็น มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ มีคุณธรรมนำพาประเทศแข่งขันได้ในระดับนานาชาติทีเดียว