​เกษตรเขต 5 ร่วมมือกับ ม.อ. เดินหน้าวิจัยป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดยะลา


29 พ.ค. 2562

เกษตรเขต 5 ร่วมมือกับ ม.อ. เดินหน้าวิจัยป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจังหวัดยะลา

นายสุพิท จิตรภักดีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลาให้ข้อมูลว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการศึกษาวิธีควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มอบทุนวิจัย จำนวน 500,000 บาท เพื่อศึกษาวิธีควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteileprosa) หรือที่เกษตรกรเรียกกันทั่วไปว่า หนอนใต้ หนอนมาเลย์ หรือหนอนรูสามารถเข้าทำลายทุเรียนได้ทุกสายพันธุ์โดยเข้าไปกัดกินตรงส่วนของเมล็ดทุเรียน

ซึ่งในอดีตพบการระบาดในทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีเมล็ดใหญ่ หนอนกัดกินที่เมล็ดเดียวหรือผลเดียวก็เพียงพอที่จะเจริญเติบโตจนถึงระยะที่จะเข้าดักแด้ได้ แต่ปัจจุบันมีการปลูกทุเรียนหมอนทองมากขึ้น ซึ่งมีขนาดเมล็ดเล็ก ทำให้หนอนไม่สามารถอยู่อาศัยและกัดกินไปจนถึงระยะเข้าดักแด้ได้ ทำให้ต้องมีการเคลื่อนย้ายไปกินที่เมล็ดอื่นหรือที่ผลอื่นต่อไป จึงทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย คือ ประเทศออสเตรเลียไม่อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนไทยแบบเป็นผล เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะมีหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปหรือไม่ ประเทศจีนกำลังเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบผลผลิตทุเรียนของไทยที่นำเข้า โดยการสุ่มตรวจในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรับภาระต้นทุนไม่ไหว การแพร่ระบาดเกิดจากตัวเต็มวัยวางไข่บนผลทุเรียน เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลทันที โดยหนอนจะกัดกินเฉพาะในเมล็ดทุเรียนเท่านั้น และยังพบการระบาดแบบข้ามถิ่นเนื่องมาจากปัจจุบันผู้รับซื้อต้องการให้เก็บทุเรียนที่ความแก่ร้อยละ 75 ซึ่งในขณะนั้น ระยะหนอนยังเจริญเติบโตไม่ถึงระยะที่จะเข้าดักแด้ได้ ทำให้ตัวหนอนติดไปกับผลทุเรียน เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ

นายสุพิท จิตรภักดีเปิดเผยว่า ในปี 2561 จังหวัดยะลามีพื้นที่ปลูกทุเรียน จำนวน 52,040 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 46,054 ไร่ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 23,733 ตัน โดยมีผลผลิตเสียหายจากการเข้าทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน 5,710 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งผลผลิตทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ภูเขาจะเสียหายมากกว่าทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ราบนายสุพิท ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้มีความร่วมมือในการควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลาดำเนินการ ศึกษาเกี่ยวกับชีวภัณฑ์และวิธีการใช้ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จัดทำแผนการจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการศึกษาวิธีควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

ผศ.ทวีศักดิ์นิยมบัณฑิตคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้กล่าวว่า ได้รับทราบถึงสถานการณ์และปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดยะลาเนื่องจากความเร่งด่วนและให้ทันกับสถานการณ์การระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) คณะทรัพยากรธรรมชาติได้สนับสนุนงบจากกองทุนวิจัยของคณะ จำนวน 500,000 บาท เพื่อให้คณาอาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลาจัดทำโครงงานวิจัยเพื่อศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งปัจจุบันกำลังจัดทำโครงร่างงานวิจัย และกำหนดลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกพื้นที่ในการดำเนินการ ในวันที่ 8 - 9 มิถุนายน 2562 นี้

นายสุพิท กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้แนะนำเกษตรกรจัดการหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้

1. ไม่ควรขนย้ายผลทุเรียน หรือเมล็ดจากแหล่งที่มีการระบาดเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้าจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ดและแช่เมล็ดด้วยสารกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

2. ห่อผลตั้งแต่ทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์จนถึงเก็บเกี่ยว หรือใช้สารกำจัดแมลงพ่นช่วงทุเรียนอายุ 6 – 10 สัปดาห์ หลังดอกบาน แล้วจึงห่อผลจนเก็บเกี่ยว

3. สำรวจโดยใช้กับดักแสงไฟ เมื่อพบหรือจับผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดได้ด้วยกับดักแสงไฟในสวนหรือบริเวณใกล้เคียงในระยะตั้งแต่ผลทุเรียนอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยใช้สารกำจัดแมลง โดยในแหล่งที่มีการระบาดควรพ่นสารเคมีกำจัดแมลงทุก 7 – 10 วัน หลังจากผลทุเรียนมีอายุ 1 เดือน ส่วนในแหล่งที่ไม่เคยพบการระบาด ให้พ่นสารกำจัดแมลงเมื่อพบตัวเต็มวัยในกับดักแสงไฟ ซึ่งสารกำจัดแมลงที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ได้แก่ แลมบ์ดา ไซฮาโลทริน (คาราเต้ ซีนอน 2.5%CS ) อัตรา 20 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตรคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP)อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไซเปอร์เมทริน/โฟซาโลน (พาร์ซอน 6.25/22.5%EC)อัตรา 40 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร