รองผู้ว่าฯนำทีมประชุมโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ


1 มิ.ย. 2562

รองผู้ว่าฯ สงขลา ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

วานนี้ (31 พ.ค. 62) ที่ห้องประชุมสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศปี 2561 เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด, ศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตอนล่าง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 6, สำนักงานสหกรณ์จังหวัดและผู้แทนเกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลในพื้นที่จังหวัดสงขลาเข้าร่วม

นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 อนุมัติโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 และจัดสรรเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรวงเงินจ่ายขาด 314.8 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งทะเลของเกษตรกรรายย่อย รวมถึงพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรให้สามารถบริหารจัดการด้านการตลาดและกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคในประเทศได้ด้วยตนเอง โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการฯ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ระดับจังหวัด

สำหรับกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1. กิจกรรมจัดหาลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตกุ้งทะเล 2. กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลและ 3. กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการตลาดบริโภคกุ้งทะเลในประเทศ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมนี้คาดว่าประโยชน์ที่สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมขน/สมาคม/ชมรมและกลุ่มเกษตรกรฯจะได้รับคือมีความเข้มแข็ง โดยผู้นำมีบทบาทในการนำสมาชิกในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ การประสานงาน และร่วมแก้ไขปัญหาการผลิตกุ้งทะเลในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองในการบริหารการผลิตและการตลาด สามารถวางแผนการผลิตกุ้งทะเลที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมสามารถกลับเข้าสู่ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งได้อีกครั้งหลังจากประสบกับปัญหาการขาดทุนจากราคากุ้งตกต่ำและภาระต้นทุนแฝง

ข่าวโดย ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว จิรพัฒน์-อรรถวุฒิ /ภาพ 31 พ.ค. 62