แชร์ลูกโซ่...ความโลภทำให้คนตาบอด


19 เม.ย. 2559

ทุกวันนี้จะหยิบจับอะไรก็ดูเหมือนว่าจะแพงไปซะทุกอย่าง การแสวงหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับคนในยุคนี้เพื่อจะมีเงินพอใช้หรือสร้างฐานะให้มั่นคงซะแล้วครับ หลาย ๆ คนจึงเริ่มเปลี่ยนจากการออมเงินไว้ในธนาคารมาเป็นการหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่ทำให้เงินงอกเงย แต่มี “ทางเลือก” รูปแบบหนึ่งที่ตกเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ก็คือ “แชร์ลูกโซ่” ครับ ผู้ที่มาชักชวนจะไม่ยอมรับว่าธุรกิจนี้เป็นแชร์ลูกโซ่ และมักจะมาในรูปของการร่วมลงทุน ซึ่งแฝงมากับธุรกิจการขายสินค้าหรือบริการเป็นเครือข่าย คล้ายธุรกิจขายตรงที่กลุ่มมิจฉาชีพหัวใสใช้แอบอ้างเป็นเครื่องมือบังหน้าในการหลอกลวง แต่มีกลไกสำคัญคือ “ความโลภ” ของมนุษย์เรา และจิตวิทยาเกลี้ยกล่อมจนทำให้หลายคนลืมนึกถึงหลัก ”ความเป็นจริง” หรือ “ความเป็นไปได้” ของธุรกิจ โดยมักจะถูกหว่านล้อมด้วยคำว่า ได้ผลตอบแทนรวดเร็ว แน่นอน และสูงมาก แต่ใช้เงินร่วมลงทุนเริ่มต้นไม่เท่าไหร่

 

เพื่อให้ท่านได้รู้รอบระวังภัยทางการเงินและรู้เท่าทันกลโกงของธุรกิจประเภทนี้ ผมมีข้อสังเกตง่าย ๆ ในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ ลักษณะเด่นของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็คือ การมุ่งเน้นหาสมาชิกใหม่เพื่อสร้างเครือข่ายหรือระดมทุนเพียงอย่างเดียว โดยจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติมตามจำนวนสมาชิกใหม่ที่หามาได้ การจ่ายผลตอบแทนในช่วงแรก ๆ จึงทำได้มากและสม่ำเสมอตามที่บอกไว้ ส่วนสินค้าหรือบริการที่อ้างถึงมักจะเป็นการซื้อขายกันเพียงกระดาษ หรือถ้ามีสินค้าอยู่จริงก็จะมีราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว และที่สำคัญมักจะอาศัยบุคคลที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จักในสังคมมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจการ แต่ในความเป็นจริงแล้วบุคคลเหล่านั้นอาจไม่ได้มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด สุดท้ายพอเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งที่ธุรกิจไม่สามารถหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้ ก็จะทำให้ธุรกิจขาดรายได้ ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนและกระทบสมาชิกผู้ร่วมลงทุนทุกคน จนต้องล้มกระดาน โอกาสที่สมาชิกจะได้เงินคืนก็เป็นไปได้ยาก หลายคนสูญเงินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

 

ผมจึงอยากฝากข้อคิดเตือนใจก่อนการตัดสินใจร่วมลงทุนกับใครก็ตามสัก 2 ข้อครับ ข้อแรก ก่อนร่วมลงทุนต้องศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของธุรกิจนั้น เช่น จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ต้องไม่มุ่งเน้นการหาสมาชิกเครือข่ายเป็นหลัก และผลตอบแทนควรจะมาจากยอดขายที่ทำได้ ไม่ใช่จ่ายผลตอบแทนตามจำนวนสมาชิก หากไม่แน่ใจให้สอบถามหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1166 หรือศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ 1359 ส่วนข้อ 2 เป็นเรื่องความเข้มแข็งของจิตใจของเราเองครับ คืออย่าหลงเชื่อคำเชิญชวนที่บอกว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงภายในระยะเวลาอันสั้นหรือโฆษณาว่าไม่มีความเสี่ยง เพราะหากว่าเป็นธุรกิจที่ดีขนาดนั้นจริง เจ้าของธุรกิจคงไม่ต้องระดมหาสมาชิกเพิ่มมากมายหรอกครับ

 

เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่าความรักทำให้คนตาบอด ธุรกิจประเภทนี้ในมุมหนึ่งก็คล้าย ๆ กันแต่มีความร้ายกาจที่ใช้ความโลภทำให้คนตาบอด ปั่นหัวผู้ร่วมลงทุนว่าทุกคนจะรวย สมหวัง มั่งคั่ง ในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ก่อตั้งเท่านั้น เชื่อผมนะครับว่าธุรกิจที่ทำให้รวยทางลัดแบบนี้มักไม่มีอยู่จริง ดังนั้นใครที่มองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ ก็ควรต้องพิจารณาและทำความเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะลงทุนให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจ อย่าลืมครับว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” มิเช่นนั้นคุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย ๆ ครับ                  

01.jpg     1213_logo_new.png