22 กรกฎาคม 2562 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กว่า 30 องค์กร ตบเท้าพร้อมกัน ณ สำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เดินหน้ายื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภคเพื่อรวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562

กว่า 22 ปี จากมาตรา 56 รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งองค์กรผู้บริโภคติดตามผลักดันเพื่อให้เกิด องค์กรอิสระที่มีพลัง อำนาจ ในการพิทักษ์สิทธิ เสนอนโยบาย และเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคอย่างเป็นระบบครบวงจร และมีการจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคยุคดิจิทัล ให้เท่าทันและจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่มาในรูปแบบที่หลากหลายได้ จนปัจจุบันได้มีการประกาศให้ องค์กรผู้บริโภคดำเนินการจดแจ้งที่ศาลากลางทุกจังหวัด หรือที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยนายรุ่งโรจน์ และสูบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ได้รับมอบหมายเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัดรับจดแจ้งองค์กรของผู้บริโภค ทำการตรวสอบเอกสารยื่นแจ้งขอทุกองค์กรอย่างละเอียด พร้อมแนะนำศูนย์ดำรงธรรมให้องค์กรประสานงานส่งเรื่องได้โดยสะดวก
เบื้องต้นวันที่ 22 ก.ค. ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา มีองค์กรผู้บริโภคได้รับจดแจ้งทั้งหมด 30 อค์กร จากนั้นสมาคมผู้บริโภคสงขลา นำโดย ร.ศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล นายกสมาคมฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือต่อ นายรุ่งโรงจ์ และสูบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดการติดตามและตรวจสอบรายชื่อองค์กรผู้บริโภคที่ขอแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค โดยมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นกลางร่วมตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลองค์กรต่อสาธารณะต่อไป
ซึ่งประโยน์ที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับจากการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เบื้องต้นมีดังนี้
>>>
เมื่อประเทศไทยเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาชนได้อะไร
1. ไม่ต้องเดินไปหลายหน่วยงาน เพื่อร้องเรียน - ลดภาระประชาชน เอาเวลาไปออกกำลังกายดีกว่า
2. เจราจาไกล่เกลี่ย ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค - ประชาชนคนไทย ไม่ต้องกลัวว่าจะวุ่นวายกับการเจราจา / ฟ้องคดี เพราะสภาฯ จะทำหน้าที่นี้แทน
3. เป็นอิสระ มีกรรมการมาจากผู้บริโภค - ประชาชนทุกคนคือผู้บริโภค จะมีตัวแทนประชาชนเดินดิน มาทำหน้าที่ในสภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นอิสระจากภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคธุรกิจ
4. เปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไป ตรงมา - เพราะข้อมูลเป็นของประชาชน ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง และเพียงพอ ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคพื้นฐานอยู่แล้ว ข้อมูลเป็นของประชาชน ไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บไว้ในแฟ้มเท่านั้น
5. ติดตาม เฝ้าระวังปัญหา และเตือนภัยผู้บริโภค - เมื่อพบผลิตภัณฑ์อันตราย หรือพบความไม่ชอบธรรมในสังคม สิ่งที่ผู้บริโภคควรจะได้รับรู้คือ ใครเป็นผู้กระทำความผิด ผิดอะไร ผิดอย่างไร สินค้ายี่ห้อนั้นๆ อันตรายอย่างไร เป็นการเตือนภัยทุกชีวิตในสังคมอย่างเป็นธรรม เพราะทุกชีวิตมีค่าเท่าเทียมกัน
6. ทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ฉับไว - สภาผู้บริโภคภาคประชาชน จะไม่รอให้ใครมาร้องเรียน เพราะ 'เราจะตัวสั่นทุกครั้ง เมื่อเห็นความอยุติธรรม' เราจะเดินหน้าเข้าหาปัญหา เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในสังคมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
7. มีสภาผู้บริโภคจังหวัดทั่วประเทศ - ประชาชนในทุกจังหวัดจะสามารถแจ้งปัญหา และให้สภาฯจังหวัดช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่/ในภูมิลำเนาของตนได้อย่างแน่นอน
ร่วมติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติได้ที่ แฟนเพจเฟสบุ๊คสมาคมผู้บริโภคสงขลา
สภาองค์กรผู้บริโภคของประชาชน สภาประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน


