​เชฟรอนรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 กับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก


10 ส.ค. 2562

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม ที่ จ.เลย ต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก โดยนำการทำวนเกษตร หรือ การเกษตรในพื้นที่ป่า เน้นการสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยตลอด 4 วัน มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม.จากศาลากลาง จ.เลย สู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง กิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง และกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ป่าต้นน้ำป่าสัก เพื่อสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “6 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ สามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและเกิดการขยายผลออกไปอย่างกว้างขวาง สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในปีที่ 7 นี้ เราได้มาที่จ.เลย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักและเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงในปี 2551 ลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็นหนึ่งใน25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศที่มีการดำเนินโครงการฯ มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างหลุมขนมครกกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น, ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วมหยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ สู่การหยุดท่วมหยุดแล้งอย่างยั่งยืน ซึ่งจะลดการสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติ ด้วยการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามหลักภูมิสังคม ให้ทุกบ้านสามารถกักเก็บน้ำได้ รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยบรรเทากระแสน้ำที่ไหลหลากลงท่วมพื้นที่ด้านล่าง

การจัดกิจกรรมรณรงค์ที่จ.เลยในครั้งนี้ มีเป้าหมาย คือ การขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา อันเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในการแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล

อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงริเริ่ม และทรงได้รับการถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ต่อมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น ‘วันดินโลก’ ในปีนี้เป็นการรณรงค์เรื่องการ ‘ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน’ (Stop Soil Erosion, Save Our Future)”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมรณรงค์ที่ จ.เลย ว่า ป่าต้นน้ำใน จ.เลยมีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำป่าสักซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีความลาดชันสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้โดยง่าย จึงเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใย อันเป็นที่มาของโครงการฯ ในปี 2556

“ในความเป็นจริงประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่ขาดแคลนทรัพยากร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดินดีอุดมสมบูรณ์ แต่ประชาชนขาดองค์ความรู้และการจัดการที่ดี โครงการฯ จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก ช่วง 3 ปีที่เหลือนี้ เป็นเฟสสุดท้ายของโครงการฯ เป็นช่วงที่ต้องเร่งเครื่อง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งองคาพยพ เกิดรูปธรรมของความสำเร็จอย่างแท้จริง และระหว่างทางของการลงมือทำ หากเกิดปัญหาขึ้นก็ค่อยแก้ ทำไปแก้ไป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ จากนั้นค่อยต่อยอดเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายที่เข้มแข็งทุกภาคส่วน ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เกษตรอินทรีย์จะไม่ใช่เกษตรทางเลือก แต่จะเป็นเกษตรทางหลักที่เกษตรกรจะต้องหันมาลงมือทำ

นอกจากนี้ เชฟรอนยังสนับสนุนโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ที่มุ่งเน้นอบรมและจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี นับตั้งแต่ปี 2557 และจะทำอย่างต่อเนื่องจนถึง ปี 2563 รวม 7 ปี โดยมุ่งหวังให้แนวทางนี้กลายเป็นกระแสหลักที่คนไทยต้องหันมาลงมือทำ เชฟรอนยังคงต้องร่วมกันทำงานกับพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัว แตกตัวไปให้ครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศในเร็ววัน” นายอาทิตย์กล่าว

ในปีที่ 7 นี้ โครงการฯ กลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ ที่ลุ่มน้ำป่าสัก จ.เลย ด้วยแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี’ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างเต็มรูปแบบ 3 กิจกรรมระหว่าง 1-4 สิงหาคม โดยวันแรกเป็นการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม.จากศาลากลาง จ.เลย มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง

กิจกรรมที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม คือ การเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ได้แก่ การดำนา ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร และที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง จ.เลย ของนายแสวง ดาปะ มีกิจกรรมขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ‘แดงเมืองเลย’

และกิจกรรมส่วนสุดท้ายในวันที่ 3 สิงหาคม เป็นกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ต้นน้ำป่าสัก ที่บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่งตั้งใจของชาวบ้านหินสอในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจนกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง และยังเป็นการกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว เพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก โดยใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีอย่างเต็มที่อีกด้วย

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงความพร้อมและความตื่นตัวของชาว จ.เลย ว่า “ลักษณะภูมิประเทศของ จ.เลย ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำเลย ลำน้ำพุง ลำน้ำพอง แม่น้ำเหือง รวมถึงแม่น้ำป่าสัก ความที่เป็นคนต้นน้ำจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ย่อมส่งผลกระทบไปสู่คนปลายน้ำได้อย่างไม่ต้องสงสัย จ.เลยได้มีการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้ จ.เลย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น และยังสามารถคืนผืนป่ากลับมาได้จำนวนหนึ่งอีกด้วย

กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือของหลายหน่วยงานใน จ.เลย อาทิ สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.เลย อ.ภูหลวง อบต.เลยวังไสย์ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย. 9 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ภูหลวง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกันตรวจสอบเพื่อจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงที่ดินของ

นายแสวง ดาปะ บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ระหว่างป่าภูหลวง และป่า ภูหอ ที่กรมป่าไม้ได้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดูแล

นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คือ สานพลังสามัคคี พัฒนามนุษย์ และฟื้นฟูลุ่มน้ำ ด้วยการวิจัยและทบทวนการขับเคลื่อนที่ผ่านมาเพื่อถอดเป็นบทเรียนรู้สำหรับการกำหนดทิศทางในอนาคต สร้างความแข็งแรงของเครือข่าย ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างเป็นระบบมีทิศทาง จัดการประชุมเพื่อรวมพลังเกี่ยวร้อยทุกเครือข่ายและคนมีใจไว้ด้วยเป้าหมายเดียวกัน และนำปัญหาที่เครือข่ายพบเจอมาระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวน หนุนเสริมให้กำลังใจ จนเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูลุ่มน้ำ”

“ทั้งนี้ พื้นที่ต้นน้ำป่าสักนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นการทำวนเกษตร ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของไร่นาผสมผสานกับการปลูกพืชชั้นล่างที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม รวมทั้งการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้มีความหลากหลายของชนิดพืชและสัตว์ ที่ จ.เลย เป็นการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยปลูกแทรกระหว่างไม้ยืนต้นต่างๆ กิจกรรมเอามื้อใน 2 พื้นที่นี้ เน้นสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อสร้างแหล่งน้ำ ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร ขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่เกือบจะสูญพันธุ์แดงเมืองเลย”

นายแสวง ดาปะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าของพื้นที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย ให้ข้อมูลพื้นที่เอามื้อว่า “เมื่อก่อนเคยทำข้าวโพด ลูกเดือย ที่เปลี่ยนเพราะมีหนี้ อยากปลดหนี้ อยากหาแนวทางทำไร่ทำสวนนอกเหนือจากการทำพืชเชิงเดี่ยว จนเมื่อปี 43-44 ไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วกลับมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน เริ่มต้นจากมีสมาชิก 24 คน ค่อยๆ เปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสาน ปลูกลิ้นจี่ ลำไย ผักหวาน ต่อมาขยายเครือข่ายพัฒนาภูหลวงอย่างยั่งยืนใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังสะพุง อ.ภูหลวง อ.ภูเรือ และอ.ด่านซ้าย มีวิทยากรประจำเครือข่าย 35 คน พาไปดูงานให้ความรู้ตามความถนัดของแต่ละคน ปัจจุบันมีสมาชิก 104 คน ยอดเงินออม 1,200,000 บาท ส่วนพื้นที่ตรงนี้ผมตั้งใจให้เป็นแปลงตัวอย่าง เพื่อขยายแนวความคิดเรื่องของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และแลกเปลี่ยนเรื่องการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป”

นายศาสนา สอนผา ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ให้ข้อมูลพื้นที่เอามื้อเพิ่มเติมว่า “ปี 48-49 เราพบว่าทุกคนในชุมชนแม้แต่เด็กเล็ก มีสารเคมีในเลือดแทบทุกคน สาเหตุจากอาหารซึ่งซื้อมาจากตลาด จึงทำเรื่องอาหารปลอดภัย โดยส่งเสริมให้สร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ตัวเอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย ประจวบกับได้ไปอบรมกับ อ.ยักษ์ จึงมาเปิดเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ในปี 50 ทำงานด้านอบรมมา 1 ปี มีสมาชิกอยู่ 60 คนที่อยู่รอบภูหลวง ในจำนวนนี้ มี 35 คน เป็นวิทยากรกระบวนการ มาช่วยอบรมและเป็นพื้นที่ต้นแบบให้คนมาดูงาน จนมาร่วมงานกับทางอภัยภูเบศร ได้ถอดองค์ความรู้ พบว่าอาหารที่ชาวบ้านกินในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เป็นสมุนไพร ทางศูนย์ฯ จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรอินทรีย์ และแปรรูป ขายให้อภัยภูเบศรเพื่อสร้างรายได้ กลุ่มชาวบ้านจึงลงมาทำจริงจัง โดยเน้นการปลูกแบบผสมผสานภายในแปลงเดียวกัน ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างความหลากหลายและหยุดใช้สารเคมี

เมืองเลยโดยเฉพาะพื้นที่นี้มีจุดเด่นเรื่องพืชสมุนไพรหอมของท้องถิ่น เช่น ไม้แข้ ไม้จวง เปราะหอม ใช้ทำเครื่องหอม เช่น สบู่ เป็นต้น ว่านสาวหลงใช้ทำลูกประคบ หรือใส่เป็นเครื่องพะโล้ ช่วยรักษาท้องอืด โรคสันนิบาต เป็นลมวิงเวียน โดยสมุนไพรที่ชาวบ้านนิยมทำมาก คือ ขิง แต่ปัญหา คือ ชาวบ้านเชื่อว่าปลูกขิงต้องย้ายที่ปลูกใหม่ๆ ทำเป็นเหมือนไร่หมุนเวียน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ต้องย้ายพื้นที่ ไม่ต้องใช้สารเคมีก็ทำได้”

โครงการ“พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ โดยกิจกรรมครั้งถัดไป จะจัดกิจกรรมทัศนศึกษาในพื้นที่ในโครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. ในวันที่ 12 กันยายน 2562 ที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง