​ชาวสงขลา ร่วมสืบสานงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโวอย่างคึกคัก เรือพระร่วมงานจำนวนมาก


14 ต.ค. 2562

ชาวจังหวัดสงขลา ร่วมสืบสานงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 อย่างคึกคัก บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสันที่สวยงาม มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเที่ยวชมงานจำนวนมาก


(14 ต.ค. 62) ที่บริเวณหน้าสนามกีฬาติณสูลานนท์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผูว่าราชการจังหวัดสงขลา ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา พันตำรวจเอก สุริยา ปัญญามัง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล พนักงาน และประชาชนในจังหวัดสงขลา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการประกวดเรือพระประเภทนิยม 14 ลำ ประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น 11 ลำ การประกวดขบวนแห่เรือพระและการแสดงมหรสพต่างๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งเรือพระจากวัดต่างๆ จะจอดบริเวณสระบัวแหลมสมิหลา เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ จัดงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2562 โดยได้ดำเนินการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีลากพระให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดสงขลาสืบไป อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้รู้สึกหวงแหนและตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ อันจะทำให้เกิดการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลาให้ดีขึ้น

นับได้ว่าประเพณีลากพระหรือชักพระ เป็นประเพณีสำคัญที่ถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของภาคใต้ ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณในเทศกาลออกพรรษาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ประเพณีชักพระเป็นประเพณี ที่พราหมณ์ศาสนิกชน และพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้น ครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอาเทวรูป ออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าว มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ประเพณีลากพระของชาวภาคใต้เป็นการสมมติตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่โลกมนุษย์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 นั่นเอง โดยอัญเชิญพระพุทธรูปยืนเรียกว่า “พระลาก” (พระปางอุ้มบาตร หรือปางประทานอภัย) ขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกที่ตั้งอยู่บนพาหนะซึ่งทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคและประดับตกแต่งเสมือนอย่างปราสาทมณฑปอย่างวิจิตร แล้วแห่แหนสมมุติแทนพระพุทธองค์ด้วยการลากไปตามสถานที่ต่าง ๆ ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือลำคลองก็จะลากพระทางน้ำ หากท้องถิ่นใดห่างไกลจากแม่น้ำ-ลำคลองก็ลากพระทางบก แล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากประเภทใดมากกว่ากัน ขบวนลากพระนี้ จึงเป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้เรียกว่า “ประเพณีลากพระ” มาจนถึงปัจจุบัน

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว ประชา โชคผ่อง/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา