นาทวี ผู้ว่าฯ ร่วมดำนาปลูกข้าว "พลิกนาร้าง เป็นนารักษ์" ส่งเสริมชาวบ้านหวนกลับสู่วิถีดั้งเดิม


30 ต.ค. 2562

ผวจ.สงขลา นำพี่น้องชาวไทยพุทธ-มุสลิมในพื้นที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ร่วมกิจกรรม "พลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ ปีที่2" เพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพชนให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ


(29 ต.ค. 62) ที่ศูนย์การเรียนรู้พระอาจารย์ภัตร อริยโย หมู่ที่ 3 ตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดกิจกรรมการดำนา "พลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ ปีที่ 2" โดยมีพระโสภณวราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลาพระอาจารย์ภัตร อริโย เจ้าคณะอำเภอนาทวี นางกัญจนา เกลี้ยงเกลา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายวรณัฏฐ์ หนูรอต ปลัดจังหวัดสงขลา นายมานิต บริพันธ์ ปลัดอวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอนาทวี พันเอกสุรเทพ หนูแก้ว รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสงขลา นางมุจรินทร์ ทองนวลประชาสัมพันธ์จังหวัด นางสมศรี รักนุ้ย วัฒนธรรมจังหวัด นายผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัด ส่วนราชการระดับอำเภอ เจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร นักเรียนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักลงมาเป็นระยะ

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการ "พลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ ที่2" ได้ริเริ่มขึ้นโดยพระอาจารย์ภัตร อริโย เจ้าคณะอำเภอนาทวี ร่วมมือกับชาวบ้านตำบลนาหมอศรี ตำบลฉาง ผู้นำชุมชน พี่น้องชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิมร่วมกันพลิกฟื้นนาที่ถูกทิ้งรกร้างมากกว่า 15 ปี ให้กลับมาปลูกข้าวได้อีกครั้งเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาบริโภค เหลือก็สามารถนำมาจำหน่ายสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งโครงการพลิกนาร้างเป็นนารักษ์ เป็นการนำร่องปลูกข้าวบนพื้นที่นาของพระอาจารย์ภัตร อริโย จำนวน 12 ไร่ ตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2561 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ได้จัดทำโครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรม "โครงการพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์" ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการชักชวนประชาชน เกษตรกร และส่วนราชการ ให้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ การทำนา จากกิจกรรมดังกล่าว ได้ประสบผลสำเร็จตาม
ความคาดหมาย

ปัจจุบันมีชาวบ้านได้หันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยในฤดูนาปีปีนี้มีชาวบ้านได้มาทำนาเพิ่มขึ้นกว่า 300 ไร่ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีทำให้ชาวนาได้มีต้นแบบการทำนาจากการพลิกฟื้นพื้นที่นาร้างเป็นนารักษ์ และที่สำคัญคือได้สร้างความสามัคคี ปรองดองระหว่างชาวบ้านไทยพุทธกับมุสลิม โดยกิจกรรมดำนาและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมดำนาจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการ ทำนาที่ถูกต้อง และกิจกรรมการดำนาจะช่วยสร้างความรัก ความสามัคคีและการมีส่วนร่วมในชุมชนยิ่งขึ้น

นับได้ว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอนาทวี โดยเฉพาะเกษตรกรพื้นที่ตำบลนาทวี ตำบลฉาง ตำบลนาหมอศรีและพื้นที่ใกล้เคียงได้หันมาปลูกข้าวเพื่อนำผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายในช่วงราคายางพาราตกต่ำ หากเหลือก็สามารถนำมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน อีกด้วย

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว ประชา-วิทยา/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา