เปิดสัมมนาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รับฟังผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)ที่สงขลา


28 เม.ย. 2559

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ที่ จ.สงขลา เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก้าวสู่ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

image_3.jpeg

วันนี้ (28 เม.ย.59) เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) สำหรับพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก้าวสู่ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีทุกภาคส่วนในพื้นที่ อาทิ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการอิสระ ผู้แทนชุมชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมสัมมนาโดยพร้อมเพรียงกัน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้โดย โดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ดำเนินการตามทิศทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แต่การพัฒนาในบางเรื่องยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ขาดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดต่อตนเอง หรือของพื้นที่จากการพัฒนา ก่อให้เกิดการไม่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ภาครัฐไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ได้

ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม จึงได้จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบผลการปรับปรุงทางเลือกที่เสนอแนะสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หลังประชุมกลุ่มย่อย Focus Group กับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.นครศรีธรรมราช จ.กระบี่ จ.สตูล และ จ.สงขลา เพื่อรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะต่อทางเลือกการพัฒนา เพื่อนำไปปรับปรุงจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ สำหรับเป็นกรอบการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาลในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้อย่างเหมาะสม สมดุล และยั่งยืน บนพื้นฐานการเรียนรู้ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดการศึกษาในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

ทั้งนี้ ได้เสนอแนะทางเลือกสำหรับการพัฒนาเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การดำเนินการตามสภาพปัจจุบัน ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น , ทางเลือกที่ 2 การพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการแปรรูป และทางเลือกที่ 3 การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือก ครอบคลุมการวิเคราะห์ 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยพบว่าทางเลือกที่เหมาะสมต่อการพัฒนา คือ ทางเลือกที่ 2 การใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ (Full-Potentail Growth Case) คือ การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ต้องการให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5 จึงเสนอแนะ ทางเลือกที่ 2+ (สองบวก) ให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้สูงขึ้นจากเดิม  เช่น การสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว , การเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่รองรับได้ , การเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ข้อมูลและที่มา

สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 28 เม.ย.59

โปรดปราน บุญธรรม / ภาพ

image_1.jpegimage_2.jpegimage_4.jpegimage_5.jpegimage.jpeg