​สธ.สงขลา ลงพื้นที่จะนะ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กอายุ 1 – 12 ปี


14 พ.ย. 2562

สาธารณสุข จ.สงขลา ลงพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กอายุ 1 – 12 ปี เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัด ขณะที่จ.สงขลาพบผู้ป่วยแล้ว 487 ราย มากสุดในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย นาหม่อมและสะเดา


วันนี้ (14 พ.ย. 62) โรงเรียนบ้านสุเหร่า ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กอายุ 1 – 12 ปี ทั่วประเทศ พ.ศ.2562-2563 เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดและป้องกันการเสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคหัด โดยมีนายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอจะนะ นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา นายณรงค์ ด้วงปาน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายฐากร นาคแก้ว รองประธานคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอจะนะ ดร.โสภณ ชูช่วย ประธานเครือข่ายสถานศึกษา อำเภอจะนะ นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชั่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุข คณะครูนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดอย่างเข้มแข็ง เพื่อปิดช่องว่างทางภูมิคุ้มกันในประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยกำหนดการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1 - ต่ำกว่า 7 ปี และวัคซีนป้องกันโรคหัด - หัดเยอรมัน (MR) ในเด็กอายุ 7 – 12 ปี ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันไม่ครบตามเกณฑ์ โรคหัดพบการระบาดในกลุ่มเด็กวัยเรียนในบางพื้นที่ รวมทั้งพบการระบาดในกลุ่มวัยผู้ใหญ่อายุ 20 – 40 ปี ที่อยู่รวมกันมาก เช่น เรือนจำ ค่ายทหาร โรงงาน สถานประกอบการ อีกทั้งยังพบแรงงานต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนจากประเทศต้นทาง

สำหรับโรคหัดเป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ติดต่อโดยการไอ จาม พูดคุยกันในระยะใกล้ อาการสำคัญคือ ไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดงแฉะ ระคายเคืองตา และมีผื่นขึ้น เชื้อจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย หากไม่มีภูมิคุ้มกันอาจ สูดหายใจเอาละอองที่มีเชื้อเข้าไปจะทำให้เป็นโรคหัดได้ หลังไข้ 3-4 วัน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีผื่นขึ้นเริ่มจากหลังหูบริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้น ๆ ผื่นจะคงอยู่นาน 5-6 วัน และค่อย ๆจางหายไปใน 2 สัปดาห์ หลังผื่นขึ้น 2-3 วัน อาการไข้ของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาการป่วยด้วยโรคหัดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ และสมองอักเสบซึ่งพบมากในเด็กเล็ก

ด้านสถานการณ์โรคหัดประเทศไทยปี 2562 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.– 18 ต.ค. 2562) มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดแล้วจำนวน 7,470 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 21 ราย โดยพบการระบาดใหญ่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ส่วนจังหวัดสงขลา ปี 2562 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 10 พ.ย. 2562) พบผู้ป่วยจำนวน 487 ราย (อัตราป่วย 34.64 ต่อประชากรแสนคน) ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 5 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคืออำเภอสะบ้าย้อย รองลงมาคืออำเภอนาหม่อม สะเดา และเทพาตามลำดับ

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กกลุ่มอายุ 1 – 12 ปีพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 โดยจังหวัดสงขลากำหนดจุดรณรงค์ ณ โรงเรียนบ้านสุเหร่า ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยภายในงานมีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กอายุ 7 - 12 ปี ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์, นิทรรศการการให้ความรู้เรื่องโรคหัด

โดยวิธีป้องกันโรคหัดที่สำคัญและได้ผลดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน โดยผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และนอกจากนี้เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดตามแผนการให้วัคซีนขั้นพื้นฐานโดยเข็มแรกฉีดเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่งเป็นต้นไป สำหรับบุตรหลานที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง

ทั้งนี้วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้รับคำวินิจฉัยจากสำนักจุฬาราชมนตรีและสภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติในองค์การที่ประชุมอิสลาม (OIC) แล้วว่าถูกหลักศาสนาอิสลามและสามารถฉีดได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว จิรพัฒน์-ชลิตา/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา