เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ หลังเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อบริโภคและการเกษตรแล้ว


15 ม.ค. 2563

จังหวัดสงขลา พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จากปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

หลังจากฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดสงขลา มีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2,300 มิลลิเมตร ซึ่งในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนเพียง 1, 300 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์และอำเภอระโนด เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร
อีกทั้งปัญหาระดับค่าความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มสูงถึง 2.7 กรัม/ลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานปกติต้องไม่เกิน 1.5 กรัม/ลิตร ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลให้นาข้าวและแปลงเกษตรกรรมในคาบสมุทรสทิงพระเริ่มขาดแคลนน้ำ พืชผลทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหาย

การช่วยเหลือและแก้ปัญหาในเบื้องต้น นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้สำรวจแหล่งน้ำจืดและพบว่ามีแหล่งน้ำจืดในป่าพรุพื้นที่เหนือทะเลสาปสงขลาที่มีต้นทุนน้ำมากพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น โดยได้ประสานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ สำนักงานชลประทานที่ 16 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมและขอสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้มีน้ำมาผสมให้ระดับค่าความเค็มของน้ำในทะเลสาปสงขลาเจือจาง

นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ได้มีการหาแนวทางแก้ไขเบื้องต้น ได้แก่ 1. นำเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานมาสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำมาเจือจางค่าความเค็มของน้ำทะเลสาปในการทำนา 2.ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำมาช่วยเหลือเกษตรกร 3. การทำฝนเทียม โดยให้หน่วยงานด้านการเกษตรหรือกรมชลประทาน เพื่อนำฝนเทียมมาช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่งและ 4. การขุดบ่อพักน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำหรือสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ฝนแล้งทิ้งช่วงทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ในพื้นที่จังหวัดสงขลาอาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาจากการพยากรณ์อากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปีนี้ฤดูแล้งจะมาเร็วจะเริ่มในช่วงเดือนต้นเดือนมกราคมและอาจจะยาวไปถึงเดือนเมษายน เนื่องจากการตรวจสอบผ่านระบบเรดาร์ไม่พบกลุ่มเมฆฝน

ด้านนายสมภพ วิสุทธิ์ศิริ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการส่วนตัวนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ปริมาณฝนก็จะลดน้อยลงเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนปริมาณฝนในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยลดน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติโดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลา มีค่าเฉลี่ยลดลงถึง 30% และพื้นที่โดยรอบ 10% แต่ปริมาณฝนจะมีมาอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งจะเข้าสู่ช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นั้นเอง

สำหรับการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ เกษตรกรและชาวสงขลาอาจต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นปี พร้อมกับการวางแผนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การหาแหล่งน้ำสำรอง การใช้น้ำอย่างประหยัด และการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ประชา โชคผ่อง/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา