ทีมวิจัย ม.หาดใหญ่ นำคณะทัวร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา


10 มี.ค. 2563

คณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ใน “โครงการรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวและลงพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงในจังหวัดสงขลา


วันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยว อันประกอบไปด้วย ตัวแทนจากบริษัทนำเที่ยว นักวิชาการ สื่อมวลชน นักท่องเที่ยวเยาวชน เป็นต้น โดยเริ่มออกเดินทางสู่วัดพะโคะ หรือวัดราชประดิษฐาน อ.สะทิงพระ จ.สงขลา นมัสการสมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมเด็จเจ้าสามเกลอ พระอริยสงฆ์ผู้มีบุญญาธิการซึ่งประชาชนให้ความเคารพนับถือ จากนั้นเดินทางมุ่งหน้าสู่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดแหลมบ่อท่อ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธิ์ จ.สงขลา ซึ่งน้ำจากบ่อนี้ตักใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีที่ สำคัญ พร้อมร่วมกิจกรรมชมวิถีชีวิตชุมชนกับชมรมคนรักษ์วัด ก่อนมุ่งหน้าต่อไปชมทัศนียภาพแกรนด์แคนยอนที่แรกใน จ.สงขลา และรับประทานอาหารเที่ยง ตามสไตลด์ชาวกระแสสินธุ์ โดยนำปลาหัวโม่ง และกุ้งจากทะเลสาบมาปรุงอาหาร ณ หลวงศรี โฮมสเตย์

ในช่วงบ่ายออกเดินทางไปยังวัดจะทิ้งพระ พร้อมรับฟังประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้าหลวงฯ

เมื่อคราวเสด็จเยือน อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยปราชญ์ชาวบ้าน ครูไพฑูรย์ ศิริรักษ์ พร้อมเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก สนับสนุนพื้นที่สีเขียว เพื่อความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัย ด้วยเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นเดินทางไปยังสวนลุงวี สวนเกษตรผสมผสาน หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า สวนสมรม ของ ร.ต.ทวี ชาตะวิทยากูล ข้าราชการเกษียณที่หันมายึดอาชีพเกษตรกร โดยปลูกพืชหลัก คือ จำปาดะขนุน และใช้ “โคระ” ซึ่งทำมาจากทางมะพร้าวสาน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมากว่า 100 ปี สามารถช่วยป้องกันแมลงได้ถึง 100 % แล้วมุ่งหน้าเขาเมืองสงขลา ชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา ก่อนเดินทางกลับ

จากกิจกรรมในเส้นทางการท่องเที่ยวครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน และชุมชนต่างๆ เป็นอย่างดี และผู้เข้าร่วมโครงการฯ คาดหวังให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงนั้น เกิดความเป็นรูปธรรมด้านหลักฐานต่างๆ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จฯ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งตามหลักฐาน จำนวน 9 ครั้ง รวมไปถึงการสนับสนุนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวงอย่างยั่งยืนต่อไป