มาเลเซียเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,000 เมกะวัตต์ เทคโนโลยีอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล


10 พ.ค. 2559

 มาเลเซีย ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงานมาตั้งแต่อดีต ได้เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทันจุง บิน (Tanjung Bin) โรงที่ 4 เทคโนโลยีอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ด้วยจำนวนเงิน 1,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 59,000 ล้านบาท

81.jpg

โรงไฟฟ้าทันจุง บิน โรงที่ 4 เทคโนลีอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล ตั้งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าถ่านหินทันจุง บิน อีก 3 โรง ที่มีกำลังผลิตรวม 2,100 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 4 โรงมีระบบการจัดการถ่านหิน การนำน้ำทะเลมาใช้ และอุปกรณ์การกำจัดมลพิษต่าง ๆ เหมือนกัน

          โรงไฟฟ้า ทันจุง บิน โรงที่ 4 ของบริษัท มาลาคอฟ คอร์ปอเรชั่น เบอร์ฮาด มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ และมีบริษัทจีอี พร้อมด้วยกลุ่มพันธมิตรคือบริษัท มูดาจายา และบริษัท ชิน เอเวอร์เซนได เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งครอบคลุมงานออกแบบ งานวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์สำคัญ ซึ่งรวมถึง หม้อไอน้ำแรงดันสูงแบบอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล พร้อมด้วยระบบการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้บริษัทจีอีเปิดเผยว่าได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ใช้เตาเผาไหม้ถ่านหินที่ช่วยลดการเกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Low NOx burner) มีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization: FGD) แบบใช้น้ำทะเล และใช้อุปกรณ์ดักเก็บฝุ่นละออง

          นายฮาบิบ ฮูซิน ผู้บริหาร บริษัท มาลาคอฟ กล่าวว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทันจุงบิน โรงที่ 4 นี้กับบริษัทไฟฟ้า Tenaga Nasional เป็นระยะเวลา 25 ปี พร้อมกับได้ทำสัญญากับ บริษัท TNB Fuel Services เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการจัดหาถ่านหินคุณภาพส่งให้กับโรงไฟฟ้าในปริมาณเพียงพอต่อเนื่อง

          มาเลเซียเป็นประเทศที่เลือกพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ด้วยเหตุผลว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศกำลังลดน้อยลง ทั้งนี้ บริษัท TNB Fuel Services นำเข้าถ่านหินส่วนใหญ่จาก อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ปัจจุบัน มาเลเซียกำลังเผชิญปัญหาเรื่องการลงทุนพัฒนาด้านพลังงานต่ำกว่าที่ควร โครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มเก่า และปริมาณก๊าซที่จำกัด ทำให้หลายๆครั้งต้องเพิ่มปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาสูง อย่างน้ำมัน

          ในปี 2558 ประเทศมาเลเซีย ฝั่งคาบสมุทรมลายู (Peninsular Malaysia) มีกำลังผลิตติดตั้งจากถ่านหินเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.3 หรือ 22,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติครองสัดส่วนร้อยละ 51.8 มาเลเซียตระหนักดีว่า ไม่สามารถพึ่งพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักได้ ขณะที่ศักยภาพพลังน้ำในคาบสมุทรมลายูก็ได้รับการพัฒนาจนเต็มที่แล้ว จึงเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งหากไม่สามารถนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ได้ มาเลเซียจำเป็นต้องพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.3 จนถึงปี 2573 นอกจากนั้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ถ่านหินจะครองสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่ร้อยละ 53 ส่วนก๊าซจะมีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าลดน้อยลง ที่ร้อยละ 29 ที่เหลือเป็น พลังน้ำ พลังงานหมุนเวียน และน้ำมัน

แปลและเรียบเรียง : สุภร เหลืองกำจร
ที่มา : Malaysia Commissions 1-GW Ultrasupercritical Coal Plant
http://www.powermag.com/malaysia-commissions-1-gw-ultrasupercritical-coal-plant/