สคร.12 สงขลา ชวนวัดความดันโลหิต ลดกินเค็ม เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก


14 พ.ค. 2559

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยกำหนดคำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์ว่า “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง  เนื่องจากเป็นโรคที่คนจำนวนมากเป็นโดยไม่รู้ตัว จากสถิติทั่วโลกพบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีเพียงร้อยละ 50 ที่ตระหนักถึงภาวะความดันโลหิตของตนเอง และมีประชากรเพียงร้อยละ 10 ที่ตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง เรียกได้ว่าภาวะดังกล่าวเปรียบเหมือนฆาตรกรเงียบ

“ความดันโลหิตคือแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ตัวเลขจำนวน 2 ค่า เช่น ค่าความดันโลหิต 120/78 มิลลิเมตรปรอท เลขตัวบนคือค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว ส่วนเลขตัวล่าง คือความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว ความดันโลหิตปกติควรมีค่าความดันโลหิตตัวบนน้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอทและค่าความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนภาวะความดันโลหิตสูงจะหมายถึงค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท” ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าว

แนวทางในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงสำหรับประชาชน ทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่เติมเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเพิ่ม   การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต นอกจากนี้ยังต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มี่ส่วนผสมของแอลกอฮอล์  ที่สำคัญจะต้องวัดความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทราบความหมายค่าความดันโลหิตของตัวเอง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรงดสูบบุหรี่ แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าความดันโลหิตจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านพฤติกรรมนับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง

ดร.นายแพทย์สุวิช  ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าความดันโลหิตตัวบนจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าว และโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  โดยพบว่าสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบร้อยละ 50 เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

bloodpressure_banner.jpg

ข่าวโดย   พรรณภัทร ประทุมศรี

นักวิชาการเผยแพร่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา