มท.2 สั่งปภ.-ท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือหน้ามรสุม ขุดปากคลองสำโรงพร้อมรับการระบายน้ำสู่ทะเลอ่าวไทย


17 ส.ค. 2563

นิพนธ์ สั่ง เตรียมพร้อมภาคใต้ รับมือก่อนฤดูมรสุม 2 เดือนข้างหน้า เร่ง ปภ.และ ท้องถิ่น ลอกคลอง-จัดการจุดขวางทางน้ำ วอน ปชช.ดูแลความสะอาดเรื่องขยะ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) ได้สั่งให้การกองช่างจาก อบจ.สงขลา และศูนย์ปภ.เขต 12 สงขลา มาทำการขุดลอกคลองสำโรงมาแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้บริเวณปากคลองสำโรง ก็ถูกคลื่นซัดทราย มาเป็นกองเนินปิดปากคลองสำโรงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นรมช.มท.จึงได้สั่งการไปยัง ศูนย์ปภ.เขต 12 สงขลา นำรถแม็คโครคอยาว มาทำการขุดลอกคลองสำโรงใหม่อีกครั้ง ในบริเวณชุมชนเก้าเส้ง โดยการขยายปากคลองให้กว้างขึ้นกว่าเดิมที่เคยขุดลอกมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมรองรับน้ำในช่วงฤดูมรสุม ที่กำลังจะมาถึง


โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาปฏิบัติหน้าที่นายกอบจ.สงขลา และนายมาหะมะพรีสกรี วาแม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต12 สงขลาได้ลงพื้นที่ชุมชนเก้าเส้ง เพื่อติดตามการการขุดลอกเปิดปากคลองสำโรงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้น้ำในคลองสำโรง สามารถไหลผ่านหมุนเวียนได้สะดวก เพื่อเป็นการเตรียมรองรับน้ำในช่วงฤดูมรสุม ที่กำลังจะมาถึงนี้ พร้อมทั้งสั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เข้ามาดูแลในเรื่องของการจัดการขยะ และดูแลในเรื่องของความสะอาดในชุมชน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อ 3 เดือนที่แล้วได้มีการขุดลอกคลองสำโรงไปครั้งหนึ่งแล้ว และวันนี้พอมีลมมรสุมพัดผ่านเข้ามา ก็จะนำเอาทรายมาปิดปากอ่าวบริเวณปากคลอง ทำให้ตื้นเขินอีก วันนี้จึงต้องมาทำการขุดลอกคลองเปิด เพื่อเปิดปากคลองสำโรงอีกครั้ง ซึ่งต่อไปนี้น่าจะต้องทำทุก 3 เดือนต่อครั้ง ที่จะต้องมาทำการขุดลอกคลอง ซึ่งในโอกาสต่อไป หากมีงบประมาณ หรือศึกษาความเป็นไปได้ ก็ลองดูว่าจะทำรูปแบบใดที่จะกั้นทราย ไม่ให้เข้ามาปิดปากอ่าวคลองสำโรงนี้อย่างถาวรในโอกาสต่อไป ซึ่งก็ต้องให้หน่วยงานที่มีภารกิจนี้โดยตรง มาศึกษาดูว่าการที่จะทำเขื่อนกั้นดินเอาไว้ หรือการกระทำเปิดปากอ่าวอย่างถาวร จะต้องทำอย่างไร มิฉะนั้นทุก 3 เดือนเราก็ต้องมาขุดลอกคลองอย่างนี้ตลอด

ซึ่งต่อไปก็จะได้ทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่า ซึ่งชุมชนเขาก็จะทำ และตนก็จะประสานกับเจ้าท่าว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมาช่วยดูแลตรงนี้ และจะทำอย่างไรให้ตรงนี้เป็นท่าเรือของชุมชน แม้ว่าจะเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็เป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแล ซึ่งก็ต้องสร้างความปลอดภัยให้แก่ชาวประมงในช่วงฤดูมรสุม ที่จะนำเรือเข้ามาจอดในคลองสำโรงนี้