ปภ.สงขลา ปรับปรุงทบทวนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมรับทุกความเสี่ยง


8 ก.ย. 2563

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ปรับปรุงทบทวนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติ

(8 ก.ย. 63) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมการปรับปรุงทบทวนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย การบูรณาการและการมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะที่สอดคล้องเหมาะสมเพื่อนำไปจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


นางสาวภาศิกา ศิรินุพงศ์ นิลล้วน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตามที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการปรับปรุงทบทวนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัด พ.ศ.2558 ฉบับล่าสุดที่ดำเนินการ คือ ฉบับปรับปรุงประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ประกอบกับสถานการณ์ภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น จังหวัดหรือพื้นที่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่หลากหลาย มีข้อมูลที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติ

จังหวัดสงขลาจึงได้มีการพิจารณา (ร่าง) แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) มีจำนวน 8 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 สถานการณ์สาธารณภัยของจังหวัด, บทที่ 2 ยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย, บทที่ 3 หลักการจัดการสาธารณภัย, บทที่ 4 การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย, บทที่ 5 การจัดการในภาวะฉุกเฉิน, บทที่ 6 การสื่อสารและโทรคมนาคม, บทที่ 7 การฟื้นฟู และบทที่ 8 การขับเคลื่อนแผน ปภ.จังหวัดไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอข้อมูลในการเตรียมความพร้อมแผนที่พื้นที่เสี่ยงจากสาธารณภัย สถานที่สำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อาทิ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอทุกอำเภอ สถานที่การสาธารณูปโภคด้านประปา ไฟฟ้าและโทรคมนาคม อุปกรณ์เตือนภัยและจุดติดตั้ง อาทิ เครื่องจักรกลและเครื่องมืออุปกรณ์สาธารณภัย ป้ายเตือนภัย สัญญาณเตือนภัยและหอกระจายข่าว ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ศักยภาพพื้นฐานด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณภัย เป็นต้น

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา