ม.อ.จับมือ ก.สาธารณสุข ลงนาม MOU ผลิตแพทย์ป้อนโรงพยาบาลชุมชน


17 พ.ค. 2559

ศูนย์ข่าวบ้านเรา.- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือผลิตแพทย์ป้อนกลับสู่ระบบสาธารณสุข เพื่อตอบสนองต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน

IMG_0958.JPG

วันนี้ (17 พ.ค. 59) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แผนการศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทโดยใช้โรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายเป็นฐานในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข , อาจารย์พิชิต  เรืองแสงวัฒนา  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  , รศ.นพ.สุธรรม  ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ,นพ.สุเทพ  วัชรปิยานันทน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ,รศ.ดร.จุฑามาส  ศตสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ,นายแพทย์กุลเดช  เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ ,นพ.พีระพงษ์  ภาวสุทธิไพศิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา , รศ.ดร.วิไลวรรณ  โชติเกียรติ  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ , นพ.สรรพงษ์  ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ,รศ.พญ. จิตเกษม  สุวรรณรัฐ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์  , นพ.จรัสพงษ์  สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล ,นพ.สาธิต  ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง , นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ,นพ.อุทิศศักดิ์  หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ,นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ร่วมกันลงนามในครั้งนี้

สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แผนการศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เป็นโครงการเฉพาะต่างกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต  แผนการศึกษาปกติ กล่าวคือ ให้บัณฑิตมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพ  และเน้นหนักให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์และมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบทและพร้อมที่จะให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกแก่ประชาชนทั้งชุมชน ดังนั้นการออกแบบหลักสูตร กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้  การวัดและประเมินผล  ของแผนการศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทจึงจัดแยกออกจากแผนการศึกษาปกติ     

ด้วยความร่วมมือในการผลิตแพทย์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แผนการศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยใช้โรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายเป็นฐานในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข  โดยมีโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่  โรงพยาบาลศูนย์ยะลา   โรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเครือข่ายในจังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง ปัตตานี ยะลา  นราธิวาส  และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   มีเป้าหมายร่วมมือร่วมกันพัฒนาระบบการจัดการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community based) เพื่อผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยใช้โรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพเป็นเครือข่ายในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อให้ได้บัณฑิตแพทย์ที่มีเจตคติที่ดีต่อชุมชน ให้ทำงานคงอยู่ในพื้นที่ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การผลิตบัณฑิตของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เปิดสอนสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

ภายใต้กรอบแนวคิดของการพัฒนาหลักสูตร “6Cs” ได้แก่

1.Continuous community engagement เน้นการจัดการเรียนการสอนในสถานที่ปฏิบัติงานจริงและผูกพันกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

2.Competency based การจัดการเรียนการสอนที่เน้นสมรรถนะหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามสมรรถนะหลักของบัณฑิตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

3.Comprehensive health care เน้นการส่งเสริมสุขภาพและบริบาลสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ

4.Cultural diversity concern คำนึงถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม

5.Chronic ambulatory care เน้นการบริบาลในลักษณะของ ambulatory care และการดูแลติดตามผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง

6.Collaboration เน้นการจัดการเรียนการสอนที่สร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก และโรงพยาบาลชุมชน

IMG_0908.JPG

ในการผลิตแพทย์ในโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย ประกอบด้วย

—เครือข่ายศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล ,โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี , โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา , โรงพยาบาลควนขนุน , โรงพยาบาลปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

เครือข่ายศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ได้แก่ โรงพยาบาลตากใบ จังหวัดนราธิวาส  , โรงพยาบาลรามัน , โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา  โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ส่วนบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้นจะทำงานสนับสนุนกันและกัน สำหรับการผลิตแพทย์ในโครงการดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำหน้าที่ในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตร  ประกันคุณภาพการศึกษา  พัฒนาอาจารย์ด้านความเป็นครู การจัดการศึกษา การประเมินผล  สื่อการเรียนรู้และการประกันคุณภาพ ประสานการจัดการศึกษากับคณะวิทยาศาสตร์  คณะและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรในการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร รวมถึงกำกับดูแลการบริหารจัดการศึกษาและการประเมินผลให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเครือข่ายในการผลิตแพทย์ให้มีศักยภาพและความพร้อมในการบริการตามระดับศักยภาพและบริบทของสถานพยาบาลนั้นๆ  สนับสนุนให้โรงพยาบาลชุมชนเครือข่ายมีความพร้อมในด้านบุคลากรและทรัพยากรในการจัดการหรือสนับสนุนการศึกษาแพทยศาสตร์  พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนไปยังโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ  โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่จะทำงานในโรงพยาบาลชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในแนวทางที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

IMG_0902.JPGIMG_0911.JPGIMG_0913.JPGIMG_0914.JPGIMG_0922.JPGIMG_0937.JPGIMG_0904.JPGIMG_0905.JPG