ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เดินหน้าเสริมศักยภาพเครือข่ายผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager)


25 พ.ย. 2563

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เดินหน้าเสริมศักยภาพเครือข่ายผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพระยะยาว รองรับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในระดับพื้นที่


วันนี้ (25 พ.ย. 63) ที่ โรงแรมบีพีแกรนด์ ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพระยะยาว รองรับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในระดับพื้นที่ โดยมี ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 รวมทั้งสิ้น 104 คน

.นายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า จากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทราบกันดีว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 นี้จะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ คือ มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อัตราส่วนภาระพึ่งพิงหรือภาระโดยรวมที่ประชากรวัยทำงานจะต้องเลี้ยงดูประชากรวัยสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น งบประมาณรัฐบาลจะต้องนำมาเป็นค่าการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่ต้องเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้หน่วยงานจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมสูงวัย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุหลากหลายโครงการ

.“ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ” หรือ “Care Manager” ถือว่าเป็นกลไกและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว มีบทบาทที่สำคัญหลายประการ ทั้งด้านการบริหารจัดการระบบ Long Term Care การจัดบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงโดยเชื่อมโยงกับทีมสหวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น Caregiver และอาสาสมัครบริบาล เชื่อมประสานการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยชุมชนเพื่อชุมชน ตามบริบทของพื้นที่

.นางสาวนวพร เตโช หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยสูงอายุศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เพิ่มมากขึ้น โดยในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยจากฐานข้อมูลจากระบบรายงานกระทรวงสาธารณสุข (HDC) ในปัจจุบัน พบว่ามีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20.53 ของประชากรทั้งหมด

เขตสุขภาพที่ 12 มีแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นเดียวกับระดับประเทศ และมีบางจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงกว่าระดับประเทศ จากข้อมูลระบบรายงานกระทรวงสาธารณสุข (HDC) ในปี พ.ศ. 2563 พบเขตสุขภาพที่ 12 มีผู้สูงอายุจำนวน 635,695 คน คิดเป็นร้อยละ 15.80 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด และเป็นจังหวัดเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ จังหวัดพัทลุง ร้อยละ 22.69 รองลงมา ได้แก่ จังหวัดตรัง ร้อยละ 19.06 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 16.85 ในส่วนของสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงและแนวโน้มป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพบผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้หรือกลุ่มพึ่งพิงประมาณ สองหมื่นราย หรือร้อยละ 3.8 อีกทั้งมีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียว และขาดผู้ดูแลมากขึ้นเช่นกัน .

สถานการณ์กำลังคนในการขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลจากระบบโปรแกรม 3C กรมอนามัย พบว่ามีผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ จำนวน 982 คน และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จำนวน 4,536 คน โดยเมื่อคำนวณอัตราส่วนระหว่างจำนวน CM และ CG ต่อผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ พบมีอัตราส่วนที่เพียงพอ แต่หากดูการกระจายและความครอบคลุมของกำลังคนดังกล่าว ยังคงพบว่ายังมีหลายพื้นที่ที่ยังขาด CM ในการดำเนินงาน ทั้งเหตุผลจากการที่ยังไม่ได้รับการอบรม รวมถึงการย้าย/เปลี่ยนงาน และเกษียณอายุราชการของ CM ที่มีอยู่เดิม

.ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวระดับพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ให้มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ และเพิ่มความครอบคลุมของกำลังคนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในพื้นที่

ภาพข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา