สมัชชา PM2.5 จ.สงขลา ชูแนวคิด"พลเมืองตื่นรู้...ร่วมใจรับมือ PM2.5 จ.สงขลา ด้วยแนวทาง Green&health"


23 ก.พ. 2564

(23 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ โรงแรมเซาท์เทิร์นแอร์พอร์ต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายแพทย์วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชา PM2.5 จังหวัดสงขลา “พลเมืองตื่นรู้...ร่วมใจรับมือ PM2.5 จังหวัดสงขลา ด้วยแนวทาง Green & Health” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสานพลังคนไทย “พื้นที่” สู้วิกฤติมลพิษอากาศ ด้วยการจัดสมัชชาพื้นที่ 6 แห่ง โดยจังหวัดสงขลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการ ชวนเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ 100 คนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเสนอแนะ ภายใต้ประเด็นการป้องกันปัญหา ข้อมูลและเผยแพร่ การปฏิบัติตนในวิกฤติการแก้ไขปัญหา และการติดตาม ประเมินผล

โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมสมองเป็น 4 ห้องย่อย ได้แก่ ห้องหมอกควันข้ามแดน วิทยากรโดย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ห้องเผาในที่โล่ง วิทยากร โดย นายภิติพัฒน์ หนูมี ปลัด อบต.ควนโส , ห้องมลภาวะจากจราจร วิทยากร โดย อาจารย์ชลัท ทิพากรเกียรติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย และนางเรณู ทิพย์มณี และห้องมลภาวะสถานประกอบการ วิทยากร โดย คุณศิริลักษณ์ วิศวรุ่งโรจน์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา

ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฑสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า สาเหตุของการเกิด PM2.5 ในประเทศไทย เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ฝุ่นควันจากการเผาไม้จากหมอกควันข้ามแดน ปัญหาสำคัญของสงขลามาจากไฟป่าประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับปรากฎการณ์เอลนิโย , ฝุ่นควันจากการผาไหม้ในที่โล่ง เผาป่า เผาเพื่อบุกรุก เผาขยะในครัวเรือน กรณีไฟป่าจากในพื้นที่จะมีการเผาไม้ยางพาร าไฟไหม้ป่าพรุบางนกออก , ฝุ่นควันจากการจราจร โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ บวกกับการดัดแปลงสภาพรถโหลดเตี้ยทำให้เกิดควันดำ และฝุ่นควันการประกอบอุตสาหกรรม กรณีฝุ่นควันจากโรงงาน สถานประกอบการ การเผาขยะจากการฝังกลบ

ในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ไม่อาจเดินทาง หรือหลบเลี่ยง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจาก สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 ที่เป็นหน่วยรับผิดชอบระดับภาคแล้ว ยังมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(กสจ.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตฝั่งตะวันออก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตำรวจราจร กรมป่าไม้ เป็นต้น

โดยในส่วนของจังหวัดสงขลา จะได้รับผลกระทบจากหมอกควันในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี โดยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเผาไหม้ในพื้นที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก และถูกลมพัดพามาถึงภาคใต้ของประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 วัน โดยมีปัจจัยจากทิศทางลม การชะล้างของฝน ภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น

ดังนั้น การจัดสมัชชาครั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่การพูดคุย และสร้างการมีส่วนร่วม (constructive dialogue) และแสวงหา Common goals เพื่อริเริ่มกลไกความร่วมมือสู่การขับเคลื่อนที่ยั่งยืน ด้วยกรอบแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาวะ (HiAPs)

.ทั้งนี้ ได้มีการชูมาตรการเด่นในการจัดการ PM2.5 ดังนี้

1. ให้มีมาตรการก่อนเกิดภัยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ผ่านเครื่องวัดที่ประชาชนเข้าถึงได้ และน่าเชื่อถือครอบคลุมในจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ออกกำลังกายกำหนด Green zone ในจุดสำคัญ เช่น สถานที่ออกกำลัง สถานที่ท่องเที่ยว สร้างพื้นที่อากาศบริสุทธิ์(เช่น ต.สะท้อน) ผลักดันนโยบายในระดับเมือง Greencity มีข้อตกลงกับชุมชนเลิกเผาขยะจากครัวเรือน

2. สร้างความร่วมมือในการรับมือระดับพื้นที่ลดปัญหามลภาวะจากแหล่งกำเนิด อาทิ แก้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุบางนกออก ต.ควนโส ด้วยการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การจัดทำข้อตกลงหรือธรรมนูญกับชุมชน พิทักษ์ฐานทรัพยากรสำคัญในป่าพรุที่มีผึ้งหลวงหายาก หรือกรณีตำบลปาดังเบซาร์ที่เป็นพื้นที่ในหุบเขา รับปัญหาไฟป่าจากอินโดฯและการเผาอ้อยจากมาเลเซีย รวมถึงจากการขนส่งสินค้า ทำให้นักเรียน ชุมชนได้รับผลกระทบ ที่จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน การมีข้อตกลงกับรถขนส่งข้ามพรมแดน

3. การสื่อสารทางสังคม หน่วยงานรัฐ ฝ่ายวิชาการ สื่อมวลชน ขยายผลความรู้การรับมือไปยังเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ ทสม. นักศึกษาจิตอาสา อสม. แกนนำชุมชน ให้สามารถเข้าใจความรู้พื้นฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อความรู้ต่างๆ


ที่มา สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา รายงาน 23 ก.พ. 64