นายกฯ ชื่นชม ม.อ. เจ้าภาพจัดและร่วมแข่งเขียนคอมฯระดับโลก


23 พ.ค. 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ครั้งที่ 40 (ACM-ICPC World final 2016) ซึ่งจัดโดยสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด และ จังหวัดภูเก็ต ในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 โดยกล่าวว่า

เป็นความทันสมัยของประเทศไทยที่จัดให้มีการแข่งขันดังกล่าว ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เพราะจะทำให้เกิดการสอดประสานการเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนในประเทศภูมิภาค ที่ผ่านมางานนี้จะจัดในประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย แต่ครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นโอกาสของไทยในการแสดงศักยภาพในด้านความพร้อมในการพัฒนาด้านดิจิตอลของไทย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (Sipa) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้ง 128 ทีมจาก 40 ประเทศ ซึ่งมีทีมจากประเทศไทย 2 ทีม  คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

91.jpg

สำหรับประโยชน์สำคัญที่ไทยจะได้จากการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ คือ  ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการจุดประกายนักคอมพิวเตอร์รุ่นเยาว์ เพื่อก้าวสู่นักคอมพิวเตอร์ระดับโลกในอนาคต ส่งเสริมกระบวนการด้านความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพราะต้องมีการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์  ถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก็จะไปไม่ได้เพราะโลกทุกวันนี้ต้องไปด้วยเทคโนโลยีโดยใช้ระบบดิจิตอลเป็นแรงขับเคลื่อน  

ด้านที่สองคือด้านเศรษฐกิจ เราได้มีการฝึกฝนเยาวชนอาสาสมัครให้มีการจัดงานระดับชาติซึ่งมีผู้ร่วมงานคนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ถึงประมาณ 1,300 คนซึ่งเป็นการทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติและสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ โอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมและการท่องเที่ยง ซึ่งในปีนี้มีการขยายตัวมากขึ้น เพื่อนำรายได้สู่ประเทศ

 

อนึ่ง การแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ครั้งที่ 40 (ACM-ICPC World Finals 2016) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคม 2559 ได้เสร็จสิ้นลงโดยได้รับความชื่นชมและความประทับใจจากผู้ร่วมจัดงานและผู้ร่วมแข่งขัน โดย ทีมจาก St. Petersburg State University ประเทศรัสเซีย เป็นผู้ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลในปีนี้ไปครอง  ในขณะที่ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล First  Solution Award  ผู้สามารถแก้โจทย์ข้อแรกสำเร็จได้เร็วที่สุด

ส่วนทีม FEDEX ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 128 ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับโลก ซึ่งคัดเลือกจากนักศึกษาใน 2,736 มหาวิทยาลัย กว่า 300,000 คน จาก 6 ทวีปทั่วโลก และเข้าร่วมแข่งขันดังกล่าว กล่าวว่า สิ่งที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก คือการได้ฝึกความคิดการแก้ปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้น มีการจัดกระบวนการในการคิดให้ดีขึ้น การได้พบเพื่อนจากต่างมหาวิทยาลัยและต่างประเทศจะทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้น และจะช่วยกระตุ้นให้เราได้พัฒนาตนเองขึ้น  ทั้งนี้สถาบันการศึกษาที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ACM-ICPC World final ในปีถัดไป คือ South Dakota School of Mines and Technology  สหรัฐอเมริกา

89.jpg90.jpg