​รพ.สงขลา ฉีดวัคซีนโควิด-19 รอบสอง สร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์


22 เม.ย. 2564

รพ.สงขลา เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 รอบสอง เน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของหน่วยงานต่างๆ

(22 เม.ย. 64) ที่อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลสงขลา เปิดฉีดวัคซีนโควิด-19 รอบสองให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของหน่วยงานต่างๆ

นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ เวชกรรมป้องกัน แขนงระบาดวิทยา โรงพยาบาลสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา มีบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าประสงค์เข้าฉีดวัคซีน จำนวนกว่า 22,000 คน โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนรอบแรกไปแล้วประมาณ 7,400 คน เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คิดเป็น 30 % ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วให้เร่งฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้มีภูมิคุ้มกัน

สำหรับวัคซีน Sinovac มีรายงานว่าสามารถลดการติดเชื้อได้ 60-70 % แต่มีประโยชน์ในการลดป่วย คือ ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการประมาณ 80 % และที่สำคัญสามารถลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้ 90-100 %

ส่วนการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ เป็นการฉีดวัคซีน Sinovac รอบที่ 2 ณ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยมีเป้าหมายประมาณ 800 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของหน่วยงานต่างๆ อาทิ เรือนจำ โรงพยาบาลทหารเรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เป็นต้น ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการช่วยป้องกันควบคุมโรค ดำเนินการฉีดวัคซีนในวันที่ 21-22เมษายน 2564

อย่างไรก็ตาม วัคซีนรอบที่ 2 ได้มีการกระจายไปยังโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 5,820 คน ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงจะมีการฉีดวัคซีนในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนนี้

สำหรับการฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังไม่พบผู้ที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการปวดตึง และบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนเท่านั้น บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนบ้างในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งสามารถหายเองได้

นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา กล่าวย้ำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ฉีดวัคซีนช่วยในการป้องกันติดเชื้อ ป้องกันการป่วย และอาการรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิต รวมทั้งป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะต้องมีการป้องกันตนเองตามมาตรการ D-M-H-T-T ( Distancing ,Mask Waring ,Hand Washing, Testing ,Thai Cha Na ) อย่างต่อเนื่องต่อไป

สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา รายงาน 22 เม.ย. 64