ประชาชนกลุ่มแรกในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19


7 มิ.ย. 2564

ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด พร้อมตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ ประมาณ 800 คน


(7 มิ.ย. 64) นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลสงขลา เพื่อให้จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อฯ และรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหา ลดจำนวนผู้ป่วย ลดความรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อ ป้องกันการเสียชีวิตและยุติการแพร่ระบาดของโรคฯ ที่ส่งผลให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 70 – 75% ของจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด ถือเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ทั้งนี้ การจะก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็วเพื่อป้องกันทั้งตัวเราเอง และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เชื่อมั่นว่าการให้บริการโดยหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลนี้ มีมาตรฐานทางการแพทย์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไม่ต่างจากในโรงพยาบาล เพราะหน่วยฉีดมีบุคลากรทางการแพทย์เตรียมพร้อมดูแลสังเกตอาการ สนับสนุนให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน และประชาสัมพันธ์บอกต่อกันในหมู่ญาติ และชุมชน

ด้านนายแพทย์ อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของอำเภอเมืองสงขลา มีจำนวนประชาชนทั้งหมด 147,916 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 64) การจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในพื้นที่ คือ 103,541 คน ในระยะที่ 2 นี้ กำหนดฉีดกลุ่มประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชาชน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยตั้งเป้าฉีดวันละ ประมาณ 800 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับสนับสนุน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการฉีดครอบคลุม 2 เข็ม แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

สำหรับจุดให้บริการนี้ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนใหญ่ (แบ่งเป็น 8 จุดย่อย) คือ ขั้นตอนที่ 1 จุดตรวจสอบรายชื่อ ลงทะเบียน ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T ขั้นตอนที่ 2 จุดวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก คัดกรองความเสี่ยง และลงนามยินยอมรับวัคซีน ขั้นตอนที่ 3 คือ การฉีดวัคซีน และบันทึกข้อมูลระบบติดตามวัคซีน และขั้นตอนที่ 4 คือ การเฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน และการรับแจ้งนัดวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวภายใต้ความพร้อมของทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีรถพยาบาลประจำจุดฉีด หากเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง ทางทีมแพทย์และพยาบาลจะทำการรักษา สามารถนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงทันที

ส่วนบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค มารอรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เช้า โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลสงขลา ได้จัดสรรวัคซีน AstraZeneca และวัคซีน Sinovac เพื่อทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจนครบจำนวนที่ได้ลงทะเบียนไว้

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ประชา-จิรัชญา/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา