ม.สงขลานครินทร์ มุ่งช่วยเหลือสังคม เปิดพื้นที่แบ่งปันต้นกล้า หนุนเกษตรในเมือง


22 มิ.ย. 2564

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ จัดโครงการ “ขวดแลกกล้า ทรัพยาแบ่งปัน” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนต้นกล้าผัก ไข่ไก่ และนม กับขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียม มุ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริมการทำเกษตรในเมือง

อ.ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า โครงการ “ขวดแลกกล้า ทรัพยาแบ่งปัน” เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา โดยการนำขวดน้ำพลาสติก และกระป๋องอะลูมิเนียม ขนาดใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน มาแลกต้นกล้าผัก เช่น พริก กะเพรา แมงลัก ถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง ผักชี ผักสลัด เป็นต้น รวมทั้งไข่ไก่ และนม ตามจำนวนที่สามารถนำไปปลูกได้ ไม่จำกัดชนิดและจำนวนต้นกล้าในการแลก

วัตถุประสงค์หลักของโครงการเพื่อเป็นการแบ่งปันต้นกล้าผักแก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้นำไปปลูกบริโภคเองภายในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ลดความเครียดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ขยะพลาสติก ขวดพลาสติกที่ได้มาจะนำไปจำหน่ายกับโรงงานรีไซเคิล เพื่อนำรายได้มาสมทบทุนโครงการ มีศิษย์เก่าให้การสนับสนุนงบประมาณในการซื้อเมล็ดพันธุ์ผักและวัสดุสำหรับเพาะต้นกล้า และมีนักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติเป็นกำลังในการเพาะต้นกล้า

ช่วงแรกจะจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. ณ NR Pavilion (ตรงข้ามคณะอุตสาหกรรมเกษตร) มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งบุคลากร ม.อ. และประชาชนชาวหาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก จึงปรับเปลี่ยนการจัดกิจกรรมเป็นครั้งคราวขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาด

อ.ดร.ธัญจิรา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของโครงการ “ขวดแลกกล้า ทรัพยาแบ่งปัน” เกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย กำลังหลักคือนักศึกษาคณะทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยงาน ซึ่งเป็นจิตอาสาทั้งหมด ได้ค่าตอบแทนเป็นเพียงขนมและน้ำ อีกหนึ่งอย่างที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ การที่ได้ช่วยให้คนสามารถปลูกผักกินเองได้ที่บ้าน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคลากรคณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี

“การเกษตรเป็นพื้นฐานของประเทศ ถึงแม้ประเทศจะพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลหรือยุคอุตสาหกรรม แต่ประชากรในประเทศยังคงต้องบริโภคอาหารที่ปลอดภัย คณะทรัพยากรธรรมชาติมีเป้าหมายสำคัญในการผลิตอาหารปลอดภัย ปัจจุบันเข้าสู่การทำเกษตรในเมือง ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นการช่วยเหลือคนในเมือง การทำงานตรงนี้ถือเป็นความสุข เป็นการให้ การแบ่งปัน และการแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ดีต่อกัน ในอนาคตโครงการนี้จะยังคงเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ของคณะต่อไป และจะต่อยอดในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการปลูกพืช ตั้งแต่วิธีการปลูก การให้ปุ๋ย และการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีทางธรรมชาติอีกด้วย” อ.ดร.ธัญจิรา กล่าวทิ้งท้าย