​สงขลายังคงตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำตัวมาเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด


6 ก.ค. 2564

สงขลายังคงตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่มเสี่ยง เพื่อนำตัวมาเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด หวังสกัดการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานและมัรกัส

(5 ก.ค.64) ที่ โถงหน้าหน้าห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายแพทย์พีระพงษ์ ภาวสุทธิไพศิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด

นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ประจำวัน พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทั้งหมด 318 ราย เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ 13 ราย นอกเรือนจำ 305 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 6624 ราย นอนอยู่โรงพยาบาล 3321 ราย รักษาหายกลับบ้านวันนี้ 133 ราย สะสม 3822 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อจากในโรงงาน 82 ราย จากในชุมชน 12 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 69 ราย และจากโรงเรียนสอนศาสนา 22 ราย

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางจังหวัดสงขลาได้เตรียมความพร้อมให้เพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยในจังหวัดสงขลา ขณะนี้มีเตียงสำรองกว่า 300 เตียง และยืนยันว่าผู้ป่วยทุกคนจะมีเตียงรองรับ

ด้านนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ในพื้นที่จังหวัดสงขลาในภาพรวม ว่าขณะนี้มีจำนวนยอดผู้ป่วยมีการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดสงขลาจึงได้กำหนดมาตรการหลัก 3 ส่วน โดยแบ่งเป็น ในส่วนของ มาตรการในโรงงานอุตสาหกรรมที่พบผู้ติดเชื้อในโรงงานแล้ว สาธารณสุขจะเข้าไปดำเนินการมาตรการ Bubble and Seal ในโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนโรงงานที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อได้แต่งตั้งคณะทำงานออกตรวจ และให้คำแนะนำโรงงานต่างๆ ถึงมาตรการที่ได้มีคำสั่งจังหวัด โดยเฉพาะการคัดแยกคัดกรองคนงาน การจัดระบบ อย่างละเอียด ลดการสัมผัสให้เหลือน้อยที่สุด การให้โรงงานที่ทีศักยภาพจัดที่พักคนงาน ให้มีรถรับส่ง เพื่อส่งคนเข้าทำงานให้เป็นบุคคลที่ปลอดเชื้อ และได้เชิญเจ้าของโรงงานหรือผู้แทนมาประชุมเพื่อรับข้อแนะนำ ตามข้อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของจังหวัดสงขลา

ในส่วนของชุมชนและหมู่บ้านที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม คนงานที่ทำงานในโรงงานส่วนใหญ่จะเป็นคนในท้องถิ่น และคนในจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียงที่มาอาศัยในจังหวัดสงขลา และเข้าทำงาน แบบเช้าไป เย็นกลับ เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะดำเนินการคัดแยกตามนโยบายที่ให้ไว้กับอำเภอ เป็นสถานที่กักตัวในพื้นที่ที่กำหนด LQ ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้าน HQ โดยมีการกำกับติดตามจากทางอำเภอเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมกันคือการลดการสัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง

ส่วนที่ 2 ในส่วนของหมู่บ้าน คือการกำหนดแนวทางการสร้างหมู่บ้านเข้มแข็ง สู้ภัยโควิด ให้คณะกรรมการของแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนมีการประเมินพื้นที่ของตนเองว่ามีการแพร่ระบาด หรือมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดและให้ดำเนินการตามมาตรการที่จะกำกับเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ และให้วัดระดับความเสี่ยง หากแพร่ระบาดรุนแรงให้มีการล็อกดาวน์ ทั้งหมู่บ้าน แต่หากพบว่าติดแค่บางส่วน ให้ปิดบ้านเฉพาะหลัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด การห้ามมิให้มีการทำกิจกรรมในชุมชนโดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก

การเข้มงวดกับการเดินทางออกนอกจังหวัด ซึ่งเป็นมาตรการที่ ศบค.กำหนด ในการเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดสงขลา และการเดินทางมาจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ให้แต่ละด่านมีความเข้มงวด คนที่ออกนอกจังหวัดต้องมีความจำเป็นจริงๆ โดยขอความร่วมมือจากชาวสงขลา งดออกนอกพื้นที่เป็นเวลา 30 วัน

นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ชี้แจงยอดของตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจตามกรอบที่กำหนดไว้ จากผู้ที่มีการสัมผัสเสี่ยงสูงและอยู่ที่ในที่กำหนด กลุ่มนี้จะไม่มีโอกาสไปสัมผัสกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นมาตรการในเชิงรุกของจังหวัดเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อมาเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด

สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายขยายเวลาไป อีก 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 64 ถึงวันที่ 5 ส.ค.64 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาได้มีมติให้ปิดสถานที่ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เช่น สนามชนโค สนามแข่งขันนก สนามกัดปลา สนามซ้อมนก และในส่วนของการปิดสถานที่ชั่วคราว สถานบริการต่างๆ เช่น บริการสถานบันเทิง อา อบ นวด ยังคงปิดเช่นเดิม ห้ามมีการรวมคนเกิน 20 คน หากมีการจัดกิจกรรมรวมคนเกิน 20 คน ต้องขออนุญาตนายอำเภอเจ้าของพื้นที่ สำหรับกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ศาสนานั้นๆ กำหนด

นอกจากนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา มีมติความเห็นชอบในการปิดพื้นที่เสี่ยงเป็นไปตามข้อเสนอของอำเภอจะนะให้ขยายเวลาการปิดพื้นที่เสี่ยง คือพื้นที่ เหมืองลิวงศ์ อ.จะนะ จนถึงวันที่ 21 ก.ค. 64

ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การจัดตั้ง LQ การจัดตั้งศูนย์กักกันชุมชน CIC เป็นสถานที่ไว้สำหรับรองรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ที่ติดเชื้อแล้วแต่มีอาการไม่รุนแรง ได้มอบภารกิจหลักให้กับนายอำเภอทุกท้องที่ และส่วนท้องถิ่น และ สาธารณสุขในพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้ในการรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ จะมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด

จากที่มีกรณีการสอบนักเรียนทหาร ที่กองบิน 56 อ.คลองหอยโข่ง ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากหลายพื้นที่รวมถึง พื้นที่ 3 จังหวัด (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) โดยให้มีเงื่อนไขและมาตรการในการเข้าพื้นที่ และการเข้าพักในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยจะมีการคัดกรองการตรวจโรค ต้องมีผล swab และรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งนี้ได้มีการเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา เมื่อเช้านี้ (5 ก.ค.64) เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยการดำเนินการสอบจะแยกเป็นรายจังหวัดและไม่ให้มีการสัมผัสกัน ระหว่างผู้สอบแต่ละจังหวัดมีทีมแพทย์กองบิน 56 คอยตรวจสอบ

ในเรื่องการเปิดการเรียนการสอนให้ทุกโรงเรียน ยังคงเปิดสอนในระบบการเรียนนอกโรงเรียน หรือเรียนที่บ้าน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโรงเรียนไหนขออนุญาตเปิดเรียนในระบบโรงเรียน

สำหรับการฉีดวัคซีนนายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวถึงในภาพรวมของการฉีดวัคซีน จังหวัดสงขลา ถึงวันที่ 4 ก.ค. 64 เข็มที่หนึ่งฉีดไปแล้ว 109,578 ราย คิดเป็น 13.26 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่สอง 37,899 ราย คิดเป็น 4.59 เปอร์เซ็นต์ ภาพรวมการจองวัคซีน 256,118 ราย

นายแพทย์พีระพงษ์ ภาวสุทธิไพศิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวถึงศักยภาพในการฉีดวัคซีนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลทหาร ได้ร่วมมือกัน ถ้าวัคซีนมีความเพียงพอ จะสามารถฉีดได้ 10,000 โดสต่อวัน หากวัคซีนมาครบจะสามารถฉีดได้ตามกลุ่มเป้าหมายทุกรายแน่นอน ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นี้ ทั้งนี้จะต้องนำผู้สูงอายุ และกลุ่มคนทั้ง 7 โรคเรื้อรัง รวมทั้งคนท้องมาฉีดให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายการฉีดนอกจากเรื่องการควบคุมโรคแล้ว ยังลดอัตราการตาย ทั้งนี้จังหวัดได้รับแจ้งวัคซีนที่ได้รับจัดสรรจาก ศบค. กว่า 2 แสนโดส (250,000 โดส) โดยจังหวัดสงขลาจะเลื่อนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น

สุดท้ายผวจ.สงขลา ได้เน้นย้ำมาตรการเข้าออกพื้นที่จังหวัดสงขลาว่าต้องมีความเข้มงวดเพื่อเป็นการป้องกันการเคลื่อนย้ายคนระหว่างพื้นที่ ป้องกันการแพร่ระบาด และแพร่กระจายในวงกว้าง เพิ่มมาตรการความเข้มข้น หากไม่มีความจำเป็นขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน ขอขอบคุณทุกภาคส่วน บุคคลากรทางการแพทย์ อสม. ผู้นำท้องถิ่น ในการร่วมมือในการร่วมมือกันให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความห่างไกลเชื้อโควิด -19 รวมทั้งเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลาที่ได้มอบเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดอัตโนมัติแบบพกพามูลค่ากว่าล้านบาท จำนวน ๖๐ เครื่อง เพื่อใช้ในโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม

ณัฐภรณ์ ศรีมณีรักษ์/ข่าว จิรัชญา เพ็ชรยอดศรี/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา