ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมจับมือผลักดัน หาดใหญ่ Sandbox


13 ส.ค. 2564


ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมจับมือผลักดัน หาดใหญ่ Sandbox

12 สิงหาคม ทีมอาสาจากสายสุขภาพ(รพ.หาดใหญ่ มอ.สสอ.) เศรษฐกิจ(หอการค้า สมาคม สมาพันธ์ SME สมาคมโลจิสติกและขนส่ง) สังคม(มอ. สมาคมอาสาสร้างสุข มูลนิธิชุมชนสงขลา) เมืองหาดใหญ่ร่วมกันประเมินสถานการณ์ ระดมแนวคิด ความร่วมมือเสริมหนุนการทำงานของสสอ.หาดใหญ่ในการรับมือโควิดระลอก 4

1.สถานการณ์การแพร่ระบาด

ภาพรวมระดับจังหวัดตั้งแต่เมษายนจนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 82ราย อยู่ในหาดใหญ่ 20 รายเฉลี่ยเดือนละ 4-5 คนต่อเดือน โดยอยู่ในกลุ่มอายุเกิน 60 และเป็นกลุ่มเสี่ยง 7 โรคอันตราย และไม่ได้ฉีดวัคซีน การแพร่เชื้อปัจจุบันอยู่ในระดับครอบครัว สถานที่ทำงาน และเริ่มพบกลุ่มผู้ป่วยที่สอบสวนโรคแล้วไม่ทราบว่าติดเชื้อมาจากไหน ขณะที่การตรวจเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนแออัด 2 แห่งพบว่า มีผู้ติดเชื้อน้อย ประเมินได้ว่ากลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้ถูกนำเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว

ทีมประเมินสถานการณ์ว่าภายใน 2 ปี เรายังต้องอยู่กับโควิด ดังนั้นจำเป็นต้องปรับแนวคิดการจัดการ

2.มาตรการสำคัญ

2.1 ด้านสาธารณสุข ลดการสูญเสีย โดยเฉพาะผู้ป่วยเหลือง-แดง ก็คือการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ คัดกรองหากลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น ปัจจุบันกล่าวได้ว่าหาดใหญ่ยังไม่มีปัญหาในด้านงบประมาณ ส่วนสถานที่บริการศูนย์พักคอย ก็มีเพิ่มมากขึ้น

2.2 หาดใหญ่ Sandbox เปิดเมืองให้เศรษฐกิจเดินหน้า ด้วยแนวทาง

1) กำหนดตัวชี้วัด ที่บอกได้ว่าสามารถเปิดเมืองให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย โดยดูบทเรียนของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่จะดูร่วมกันระหว่างผู้ป่วยเหลือง แดง ผู้ได้รับวัคซีน และการติดเชื้อของประชาชน

2) จัดให้เมืองมี ATK Center ที่อาจดำเนินการโดยภาคเอกชน เปิดบริการให้คนหาดใหญ่หรือนักท่องเที่ยวมาใช้คัดกรองตัวเอง ขณะที่ยังหาวัคซีนไม่ได้ หากพบว่าปลอดโควิด ให้มี Health profile ประจำตัว สามารถเข้าใช้บริการในสถานที่สาธารณะ ร้านอาหาร ร้านค้า สถานประกอบการต่างๆ

พร้อมออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ไปกักตัว โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการที่จะดึงกลุ่มเสี่ยงออกมา เช่น เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าพัก สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากราชการในด้านต่างๆมากขึ้น

3) ให้มีสถานประกอบการตัวอย่าง ที่มีมาตรการ New Normal ทั้งในส่วนผู้ประกอบการและลูกค้าที่มาใช้บริการ เป็นsector sandbox นำร่องเป็นตัวอย่าง เพื่อให้สังคมเห็นว่าเมืองสามารถจัดการตนเองได้ โดยจัดทำเป็นโครงการและรับสมัครผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วม ซึ่งปัจจุบันแต่ละสถานประกอบการเริ่มจัดทำมาตรการออกมา และจะเริ่มดำเนินการในเร็วๆนี้

พร้อมปรับมาตรการ Bubble and Seal ลดการแพร่เชื้อในโรงงาน โรงเรียน เช่น จัดกลุ่มการทำงานให้อยู่แต่ในกลุ่่มเดียวกันใช้สีหมวก ลดจำนวนการรวมกลุ่ม แยกกลุ่ม

รวมถึงสร้างความรู้การอยู่กับโควิดในชีวิตประจำวันส่งต่อไปถึงประชาชน ระดับบุคคล ครอบครัว และกลุ่มต่างๆ เช่น โรงเรียนผ่านกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง อสม. โดยทีมอาสาสมัคร

หากสามารถผลักดันแนวคิดนี้สู่สังคมร่วมกันได้ จะทำให้เกิดภาพลักษณ์เมืองหาดใหญ่ที่แตกต่างไป กลายเป็น Healthcity ไปในที่สุด

4) ลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ประกอบการหรือประชาชนที่ไม่มีความพร้อม "จนแจ็กๆ" ด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ ดูแล ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มนักเรียน กลุ่มประชากรยากจน เปราะบาง

5)มีศูนย์ปฏิบัติการ/ทีมประเมินสถานการณ์ของเมืองในลักษณะ Data center รวบรวมข้อมูลข่าวสารสื่อสารสังคมทันสถานการณ์ สามารถอาศัย Platformท้องถิ่น ของ onechat ที่สมาพันธ์ Sme ร่วมพัฒนาขึ้นในการบันทึกข้อมูล เชื่อมโยงกับสาธารณสุข ร้านค้า สถานประกอบการต่างๆ

6) การสื่อสารทางสังคม ทางมหาวิทยาสงขลานครินทร์ร่วมกับ YEC สนับสนุนให้เกิดอาสาสมัคร นำทีม 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยมาช่วยสื่อสารทางสังคมถึงมาตรการ ความรู้ต่างๆที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย

7) ศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม จากสถานการณ์โควิดในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กลุ่ม SME ศูนย์การค้า เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ปัจจุบันทางหอการค้าจับมือกับคณะเศรษฐศาสตร์มอ.กำลังพัฒนาแบบสอบถามประกอบการวิจัย

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง และต้องการความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันทุกฝ่าย หลังจากนี้แต่ละทีมแยกกันไปทำรายละเอียด จัดทำแผนปฎิบัติการ มาหารือร่วมกันพร้อมกับประสานภาคีที่ต้องการเข้าร่วม นำไปสู่การผลักดันให้เกิดผลต่อไป