กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาเด็กฯนโรงเรียนตชด.มหาราช1 สะบ้าย้อย


22 ก.ย. 2564

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)


(21 ก.ย. 64) เวลา 13.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมหาราช 1 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 6/1046 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โดยมีนางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเสวียง แก้วทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงจังหวัดสงขลา พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ต. ดำรัส วิริยะกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พล.ต.อ. สถาพร แก้วสนิท ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ข้าราชการ คณะครู นักเรียน คณะกรรมการการศึกษา และผู้นำชุมชนเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ที่ตั้ง ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมหาราช 1 สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2510 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 173 คน เป็นชาย 85 คน หญิง 88 คน ครู ตชด. 9 นาย บุคลากร ทางการศึกษา 7 คน และมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ที่กำลังศึกษาอยู่ จำนวน 7 คน ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนจัดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1/2564 แบบ On-hand เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหากว่าการระบาดในพื้นที่สงบลง จะทำการประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid+ (TSC+) เพื่อเปิดเรียนแบบ On-Site ต่อไป

ในปีที่ผ่านมา โรงเรียนดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2569 มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เช่น เป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการและทางจริยธรรม เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการอาชีพ ปลูกจิตสํานึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นและของชาติไทย ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน และพัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้

นการนี้ ทรงรับฟังรายงานผลการดําเนินงานโครงการพัฒนาตามพระราชดําริ ต่อจากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน อาทิ การสาธิตการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่องการคูณแบบเวทคณิต ด้วยเทคนิคการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย เพื่อพัฒนาทักษะการคิดคํานวณทางคณิตศาสตร์ของผู้เรียน ให้ผู้เรียนคิดเลขได้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยํา รู้จักคิด มีเหตุผลอย่างเป็นระบบ สามารถแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทอดพระเนตรกิจกรรมระดับชั้นอนุบาล มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อพัฒนาเด็กให้เกิดความสุข เกิดทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมห้องสมุด และกิจกรรมห้องพยาบาล ซึ่งในปี 2563 มีนักเรียนเข้ารับบริการจำนวน 42 คน คิดเป็นร้อยละ 22.46 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด โดยโรคและอาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ อาการปวดศรีษะ ไข้หวัด และอาการปวด จุกเสียด แน่นท้อง ด้านสภาวะช่องปาก พบนักเรียนฟันผุ จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 9.50 ได้รับการรักษาจากเจ้าหน้าที่ทันตสุขภาพ โรงพยาบาลสะบ้าย้อย การเฝ้าระวังภาวะโรคโลหิตจาง ให้นักเรียนรับประทานยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กครั้งละ 1 เม็ด สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนโรคที่พบบ่อยในชุมชน ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย

สำหรับกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน โรงเรียนได้กำหนดให้มีกิจกรรมร้านค้าขายสินค้า กิจกรรมบันทึกการขายสินค้า และทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้รู้จักการออม มีวินัยในตนเอง ใช้จ่ายอย่างประหยัด อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของตนเองและถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัวและชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก สหกรณ์ จำนวน 216 คน มีคณะกรรมการดำเนินงาน 15 คน มีหุ้น 1,554 หุ้น หุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 15,540 บาท

จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันและอาหารเสริมนม สมาชิกกลุ่มอาชีพประชาชนตามพระราชดำริ “บ้านน้ำเชี่ยว” กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทอดพระเนตรกิจกรรมการฝึกอาชีพนักเรียน ได้แก่ การทำขนมเจาะหู การฝึกอาชีพตัดผม กิจกรรมการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนมีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 10 ไร่ มีผลผลิตเพียงพอ เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ทั้งการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การปลูกผักยกแคร่ การปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ การประมง เลี้ยงปลาในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ เลี้ยงกบในกระชัง อีกทั้งได้ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยมอบเมล็ดพันธุ์ผักให้ผู้ปกครองนำไปปลูก เพื่อนำผลผลิตมาบริโภคเป็นการลดรายจ่ายของครัวเรือน

ในโอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราโชวาท การดำเนินงานของโรงเรียนมีความก้าวหน้าดีในกิจกรรมต่าง ๆ มีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา มีการถ่ายทอดความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชนให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้ ทรงขอบใจหน่วยงานต่าง ๆ คุณครู ปราชญ์ชุมชน ที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลโครงการต่าง ๆ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้า และขอให้ทุกคนอยู่อย่างปลอดภัย ประสบความสำเร็จทั้งด้านอาชีพ สุขภาพอนามัย

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ประชา โชคผ่อง /ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา