​"เฉลิมชัย-นิพนธ์" ตรวจคลองอาทิตย์-ขยายคลองร.1 พร้อมระบายน้ำหน้าฝน-เก็บน้ำใช้หน้าแล้ง


18 ต.ค. 2564

เฉลิมชัย-นิพนธ์ ตรวจคลองอาทิตย์ คาบสมุทรสทิงพระ และคลองร.1 มั่นใจแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่-น้ำแล้ง สงขลาได้ทั้งระบบ


วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ ม.9 ต.ท่าหินกิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับทราบปัญหาอุปสรรค โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายไพโรจน์ ศรีละมุน นายอำเภอระโนด และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมติดตามและให้การต้อนรับ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอดเมื่อมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเป็นประจำ เมื่อมีการรุกตัวของน้ำเค็มถึงทะเลสาบตอนบน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ซึ่งขณะนี้ได้มีการขุดลอก และขยายคลองพลเอกอาทิตย์ฯ จากความกว้างเดิม 40 เมตรเป็น 70 เมตรและ ขุดขยายคลองหนัง บริเวณ อำเภอสทิงพระ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำ ก่อสร้างแก้มลิงรวมไปถึงปรับปรุงแก้มลิงเดิมเพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 7 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัว โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12,000 ไร่ โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ต่อจากนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองหาดใหญ่ และเก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกด้านการเกษตร ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภค อุตสาหกรรม สนองความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา ที่กำลังขยายตัว

โดยการดำเนินงานจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาโครงการ 8 ปี (พ.ศ.2558 – 2565) วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนการเตรียมความพร้อมช่วงฤดูน้ำหลากปี พ.ศ. 2564 โดยมีการเฝ้าระวังและคาดการณ์อุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ในช่วงฤดูน้ำหลากช่วงเดือน (ต.ค.64–ธ.ค.64) ได้แก่ 1) เฝ้าระวังพื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 2) เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนริมคลองธรรมชาติ

ทั้งนี้ ให้ความมั่นใจว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งระบบ และสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด จ.สงขลา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำส่วนเกินความต้องการในช่วงฤดูฝน ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง สำหรับทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคด้วย