เฉลิมชัย ศรีอ่อน ลงพื้นที่สงขลาติดตามการจัดการน้ำและงานของกระทรวงเกษตร 2 วันเต็มๆ


18 ต.ค. 2564

16-17 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจติดตามงานต่างๆ ของกระวงในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีคิวงานแน่นเหยียด มีคณะทำงาน ข้าชการในกระทรวงลงพื้นที่แทบทุกหน่วยงาน ส่วนในพื้นที่มีผู้ร่วมนำทัพต้อนรับทั้งนายกชาย สส.เดชอิศม์ ขาวทอง เขต 5 ถาวร เสนเนียม สส.เขต 6 สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.เขต 8 รวมถึงพี่ใหญ่ในจังหวัดอย่างนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงมหาดไทย แคนดิเดต ว่าที่ผู้สมัครสส.หลายคนก็ร่วมต้อนรับกันอย่างอบอุ่น โดยภารกิจของ รมว.เกษตรฯ ทั้ง 2 วันมีดังนี้

16 ต.ค.ลงพื้นที่ตรวจราชการ “โครงการอ่างเก็บน้ำพรุพลีควาย” อ.นาหม่อม จ.สงขลา มอบนโยบาย ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการสร้างท่ท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตร การปรับภูมิทัศน์รอบอ่างรองรับการท่องเที่ยวและการออกกำลังกายของชาวบ้านในชุมชนและพื้นที่ข้างเคียง ต่อด้วยอำเภอจะนะ รับฟังรายงานการดำเนินงานโครงการแก้ไขสถานการณ์น้ำ ในปี 64 และโครงการต่าง ๆ พร้อมทั้งพบปะประชาชนรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และมอบถุงยังชีพให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน จำนวน 200 ชุด และมอบสัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่กลุ่มเกษตรทำไร่นาสวนผสมปฏิรูปที่ดินสะพานไม้แก่น

ต่อด้วยการลงพื้นที่อำเภอสะเดา 3 จุด ตรวจราชการบ้านน้ำลัด ม.2 ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ พร้อมร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป ตรวจราชการพื้นที่โรงเรียนเทศบาล 2(บ้านสะเดา) อ.สะเดา จ.สงขลา ตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาฉีดวัคซีน ลงพื้นที่เทศบาลตำบลปาดัง อ.สะเดา จ.สงขลา มอบนโยบายพร้อมพบปะพี่น้องประชาชนและเกษตรในพื้นที่

ต่อด้วยการตรวจ“โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลา” อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งธรรมชาติ และลงพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำแซง ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งทากรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ และมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก. 4-01) จำนวน 8 ราย ปิดท้ายภารกิจด้วยการแวะรับประทานอาหารค่ำ ณ สำนักงานสส.เดชอิศม์ ขาวทอง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

วันที่ 17 ต.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะ เดินทางไปตรวจราชการ ณ บ้านทุ่งสงวน ต.แดนสงวน อ.ระโนด จ.สงขลา ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเก็บกักน้ำคลองไผ่ ซึ่งเป็น 1 ในโครงการที่ช่วยเรื่องอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยกรมชลประทาน

จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ 2565 โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ 2567 ซึ่งจะมีการขุดขยายคลองระบายน้ำ กว้าง 34.00 เมตร ลึก 4.00 เมตร ความยาว 16.00 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 22.582 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

พร้อมก่อสร้างถนนคันคลอง 2 ฝั่ง (ลาดยางผิวจราจรฝั่งขวา และลูกรังถมบดอัดแน่นฝั่งซ้าย) ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สะพานรถยนต์ 21 แห่ง ท่อระบายน้ำลอดถนน 4 แห่ง และอาคารรับน้ำ 41 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยระบายน้ำ บรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ประมาณ 1,917 ไร่ ตลอดจนเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภค –บริโภคอีกด้วย

จากนั้นได้ติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ ม.9 ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ โดยขณะนี้ได้มีการขุดลอกและขยายคลองพลเอกอาทิตย์ฯ จากความกว้างเดิม 40 เมตรเป็น 70 เมตร และขุดขยายคลองหนัง บริเวณอำเภอสทิงพระ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำ ก่อสร้างแก้มลิงรวมไปถึงปรับปรุงแก้มลิงเดิมเพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 7 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัว โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12,000 ไร่ โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

และปิดท้ายภารกิจด้วยการตรวจความคืบหน้าโครงการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาโครงการ 8 ปี (พ.ศ.2558 – 2565) วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท