​ผู้ว่าฯ มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานแก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน


25 ต.ค. 2564

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน แก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล กระทรวง และจังหวัดไปสู่ความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

(25 ต.ค. 64) ที่ห้องประชุมแหลมสนอ่อน สำนักงานแรงงานจังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน แก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล กระทรวง และจังหวัดไปสู่ความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยมีนางสุจินดา บุญแอ แรงงานจังหวัดสงขลา นายพิเชษฐ์ โต๊ะทรัพย์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา นายสมเกียรติ สิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา นางอารี เตชะวันโต ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา ผู้แทนส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลาเข้าร่วม


โดยก่อนเริ่มวาระการประชุม นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณเข็มเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณผู้ทำประโยชน์ของกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2564 แก่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น จำนวน 3 ราย และบัณฑิตแรงงานดีเด่น จำนวน 2 ราย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการด้านแรงงาน ซึ่งมีความสำคัญส่งผลต่อการพัฒนาจังหวัด โดยมีผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังแรงงานของระดับจังหวัด และประเทศให้มีงานทำ มีรายได้ มีอาชีพ ยกระดับฝีมือแรงงาน คุ้มครองและสร้างหลักประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงานความท้าทายด้านแรงงานที่มีหลากหลายรูปแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขาดแคลนกำลังแรงงานจนส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว

สำหรับข้อมูลสำคัญด้านแรงงานจังหวัดสงขลา มีแรงงานนอกระบบ หรือผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม จากผลการสำรวจแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติจังหวัดสงขลา ในปี 2563 มีจำนวน 427,459 คน โดยแบ่งเป็นเกษตรกรรม 184,704 คน และนอกภาคเกษตรกรรม 242,755 คน ด้านสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมในจังหวัดสงขลา มีจำนวนทั้งสิ้น 9, 211 แห่ง (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564) แยกเป็นขนาดสถานประกอบการขนาด 1-10 คน จำนวน 6,903 แห่ง, 11-20 คน 1,013 แห่ง, 21-50 คน 785 แห่ง, 51-100 คน 249 แห่ง, 101-200 คน 140 แห่ง, 201- 500 คน 80 แห่ง 501-1,000 คนที่ 11 แห่ง, และ 1,001 คนขึ้นไปจำนวน 20 แห่ง โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสงขลาอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน

จำนวนแรงงานต่างด้าว ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 จังหวัดสงขลามีจำนวนแรงงานต่างด้าวคงเหลือ จำนวน 32,262 รายจำแนกตามสัญชาติเมียนมา 28,332 ราย, ลาว 1,300 ราย และกัมพูชา 2,330 รายเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าว ลดลงจำนวน 819 ราย และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2563 แรงงานต่างด้าวลดลง จำนวน 2,200 คน

ส่วนการดำเนินโครงการเยียวยา นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จังหวัดสงขลา มีผู้ประกันตนได้รับเงินเยียวยา มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งสิ้นจํานวน 570,800 คน เป็นเงิน 4,918,946,825 บาท คิดเป็น 99.20 % ของผู้ประกันตน และจำนวนสถานประกอบการ ผู้ประกันตน จำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนกรณีว่างงาน ข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2564 จังหวัดสงขลา มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมจำนวน 9,238 แห่ง ผู้ประกันตนจำนวน 715,152 คน และผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนกรณีว่างงาน จำนวน 9,249 คน

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ฟารีด้า รอดกุบ/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา