ผู้ว่าฯ หารือผู้แทนสงขลา ร่วมเดินหน้าแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เชิงรุกรับการเปิดประเทศ


29 ต.ค. 2564

จังหวัดสงขลา จับมือ ส.ส. ในพื้นที่ เดินหน้าหารือแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลดติด ลดป่วยหนัก ลดตาย กระจายวัคซีน รองรับการเปิดประเทศ และพื้นที่ท่องเที่ยว

(29 ต.ค. 64) ที่ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 8 เขต นำโดย นายวันชัย ปริญญาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 นายพยม พรหมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 3 นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 7 และผู้แทนอีก 4 เขต ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดสงขลา

โดยในที่ประชุมได้ร่วมหารือ และเสนอแนะมาตรการทางด้านสาธารณสุขของจังหวัดสงขลา ด้านการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดสงขลา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดสงขลาวันนี้ (29 ต.ค. 64) พบผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 595 ราย และในเรือนจำ 1 ราย พบในพื้นที่อำเภอจะนะ 172 ราย รองลงมา คือ อำเภอเทพา 74 ราย และอำเภอรัตภูมิ 68 ราย ยังพบการแพร่ระบาดในชุมชนในชุมชนเป็นหลัก ในพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมือง อำเภอเทพา อำเภอสิงหนคร อำเภอรัตภูมิ และแนวโน้มสถานการณ์ยังทรงๆ อยู่ในช่วง 500-600 คน ซึ่งตัวเลขยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์เนื่องจากขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้มีการจัดตั้งทีมชุมชน (CCRT) ลงพื้นที่เชิงรุก และมีการเร่งฉีดวัคซีน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการจังหวัดสงขลา ต้องฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ภายในเดือนตุลาคม 2564 และลดอัตราการป่วยร้อยละ 20 วันละ 300 คน ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา ได้มีการกำหนดพื้นที่ Covid Free Setting ซึ่งจะมีการดูแลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการในสถานประกอบการต่างๆ ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมือง และอำเภอสะเดา รองรับการเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวของจังหวัด ทั้ง Hatyai Sandbox Plus และ Dannok Sandbox รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และจะมีการสุ่มตรวจ ATK ร้อยละ 10 ทุกสัปดาห์

ในส่วนของบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษากลุ่มเป้าหมาย คาดว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนครบภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งทุกมาตรการจะทำควบคู่กันไปภายใต้แนวคิด “Songkhla Fast Songkhla Safe” (Fast Potect Fast Vaccine Fast ATK Fast Lockdown Fast Isolation และ Fast Favipiravir) เพื่อลดติด ลดป่วยหนัก ลดตาย กระจายวัคซีน รองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลาในเดือนธันวาคม 2564

โดยในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้แทน รวมทั้ง 8 เขต ได้นำเสนอเพิ่มเติมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เช่น การสนับสนุนการดูแล และการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. การคุมเข้มพื้นที่ชุมชน ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประกันโควิด-19 การแจ้งคิวเข้ารับวัคซีนแก่ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่มีสื่อออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนกระตือรือร้นในการเข้ารับวัคซีนโดยเฉพาะไฟเซอร์เพิ่มมากขึ้น พร้อมขอบคุณ และยินดีให้ความร่วมมือในการสนับสนุนทางจังหวัดสงขลา และส่วนราชการทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติกเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดติด ลดป่วยหนัก ลดตาย กระจายวัคซีน รองรับการเปิดประเทศ และพื้นที่ท่องเที่ยวสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

.

สุธิดา / ข่าว โปรดปราน / ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา รายงาน 29 ต.ค. 64