จังหวัดสงขลา กำชับทุกอำเภอเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 26-30 พ.ย.นี้


25 พ.ย. 2564

(26 พ.ย. 64) นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พบว่ายังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 26-30 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้

1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคกลาง จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง และนราธิวาส

3.เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองบางสะพาน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ คลองชุมพร คลองหลังสวน คลองสวี จังหวัดชุมพร คลองอิปัน แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองท่าดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา คลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา แม่น้ำปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณปากอ่าว เนื่องจากจะมีระดับน้ำทะเลหนุนยกตัวสูงกว่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 0.5-1 เมตร

จึงขอให้อำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการติดตามสภาพอากาศ และสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และรองรับน้ำหลาก

พร้อมให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ การเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสาร พร้อมการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

.

สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา รายงาน