สธ.ย้ำพื้นที่สงขลายังเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกต้องเร่งกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่อง


2 มิ.ย. 2559

จากการสุ่มลูกน้ำในโรงเรียน และในชุมชน ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา พบว่า ในโรงเรียนมากกว่าครึ่งยังพบลูกน้ำ และส่วนใหญ่พบลูกน้ำในภาชนะเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ และแจกันดอกไม้ และยังพบลูกน้ำอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก

นพ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า ในระยะนี้เข้าสู่ฤดูฝน ภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของยุงลาย ซึ่งจะทำให้ปริมาณยุงลายเพิ่มมากขึ้นได้ประกอบกับจากการสุ่มสำรวจฯ พบมีลูกน้ำอยู่ในภาชนะเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ แจกัน รวมทั้งอ่างบัวที่อยู่ในโรงเรียนและในชุมชนเกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้น

และในระยะนี้เป็นช่วงเปิดเทอม หากมีเด็กป่วยในโรงเรียน อาจจะทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้เฝ้าระวังอาการป่วยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการซื้อยาชุดมากินเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นในระยะนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิด ดังนี้
• หากมีไข้สูงลอย 2 วัน วันที่ 3 ไข้ไม่ลดลงให้สงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก ขอให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
• หากมีไข้ ให้ใช้ยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล ไม่ใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพริน ไอบูโปรเฟน และไม่ซื้อยาชุดมากินเอง

สำหรับการป้องกันลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิด ในห้องน้ำโรงเรียน และบ้านเรือนนั้น ควรขัดล้างและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ หรือใช้วิธีเปิดน้ำให้หยดติ๋งๆตลอดเวลา เมื่อน้ำกระเพื่อมทำให้ยุงลายไม่มาวางไข่ หรืออาจจะใส่น้ำให้เต็มปริ่มขอบภาชนะอยู่ตลอดเวลา ยุงลายจะไม่สามารถวางไข่ได้ เนื่องจากปกติยุงลายจะวางไข่ที่ขอบภาชนะเหนือผิวน้ำประมาณ 1 เซนติเมตร และควรเลือกใช้ภาชนะเก็บน้ำที่มีสีอ่อนๆ ในห้องน้ำแทนภาชนะที่มีสีมืดเข้ม

นอกจากนี้ควรลดภาชนะที่ไม่จำเป็นที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน เช่น แจกันใส่น้ำและภาชนะที่ใส่ต้นไม้ในบ้าน จานรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของ จังหวัดสงขลา พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 27 พ.ค. 2559 ได้รับรายงานผู้ป่วย จำนวนทั้งสิ้น 578 รายไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี จำนวน 133 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี, 10 – 14 ปี, 25-34 ปี จำนวน 113 , 109 และ 102 ราย ตามลำดับ อำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ อ.คลองหอยโข่ง รองลงมา คือ อ.บางกล่ำ, อ.สิงหนคร และ อ.สะเดา ตามลำดับ

62.jpg