ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2559


2 มิ.ย. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 45.7 เพศหญิง ร้อยละ 54.3 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25 – 34 ปี คิดเป็นร้อยละ 39.2 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 49.1

001.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนพฤษภาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้จากการทำงานที่ปรับตัวลงลง เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าทุกด้าน โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้เงินกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน เช่น เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ของกินของใช้ของบุตรหลาน และค่าเล่าเรียน เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ในโครงการเทใจคืนสุข จำหน่ายสินค้าราคาส่วนลดในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ  รวมทั้งให้โรงรับจำนำของรัฐเตรียมเงินหมุนเวียนไว้รอบรับ 1 พันล้านบาท พร้อมทั้งยืดอายุตั๋วจำนำเป็น 6 เดือน (มติชนออนไลน์,15 พ.ค. 2559)

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดติดกันหลายวัน ได้แก่ วันแรงงาน วันวิสาขบูชา และวันหยุดที่รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยประกาศให้วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 เป็นวันหยุดต่อเนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ทำให้มีวันหยุดยาว คือ วันที่ 5-9 พฤษภาคม 2559  จึงทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 61.4 และ 59.5 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 24.1 และ 28.0 ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.2 และ 24.1 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 25.4 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และการว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 21.6 และ 20.7 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ หนี้สินครัวเรือน รองลงมา คือ ค่าครองชีพและการว่างงานตามลำดับ